สูตินรีแพทย์เตือนกินลูกปลาช่อนดิบเสี่ยงอันตราย ไม่ช่วยสมานแผลผ่าคลอด
- กรมการแพทย์
- 41 View
- อ่านต่อ
ต้อหินเป็นโรคที่นำมาสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ในคนไทยที่อายุมากกว่า 50ปี จะพบต้อหินได้ถึง5% โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) แนะนำการตรวจตาและการมองเห็นด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นของตนเองได้และหากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อหินให้เข้ารับการตรวจตาเพื่อพบโรคได้แต่ระยะแรกและทำการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของโรค
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพดวงตาและการตรวจการมองเห็นด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญซึ่งหากพบความผิดปกติ และเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขทางจักษุและตรวจพบโรคแต่ระยะแรกก็สามารถรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ การคัดกรองโรคตาจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา ผู้มีสายตาสั้นมาก สายตายาวมาก ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ควรได้รับการตรวจสายตาและวินิจฉัยโดยทีมจักษุสาธารณสุข
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมของประสาทตาที่แทบไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น ต่อเมื่อโรคดำเนินไปจนระยะท้ายทำให้สูญเสียลานสายตาและการมองเห็นได้ การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพตาและการได้รับการวินิจฉัยโรครวมถึงการติดตามอาการและการรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถชะลอโรคและรักษาการมองเห็นไว้ได้
แพทย์หญิงกุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ จักษุแพทย์ด้านต้อหินกล่าวเสริมว่า เนื่องจากโรคต้อหินแทบไม่มีอาการแสดงในระยะต้นเลยจนเมื่อโรคดำเนินไปจนสุดทางจึงมีอาการเช่นมุมมองของภาพแคบลงและมีการสูญเสียการมองเห็นในระยะสุดท้าย การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคตาในคนไทยยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องการการพัฒนาและจัดสรรในระบบจักษุสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้การคัดกรองโรคตาต่างๆเช่นโรคต้อหินมีความเป็นไปได้
ต้อหินแบ่งตามกายวิภาคตาได้เป็นต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิดและหากแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็นต้อหินปฐมภูมิและต้อหินทุติยภูมิ โดยกลไกการเกิดโรคนั้นเกิดจากการสูญเสียสมดุลของการสร้างและระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงใดๆในระยะแรก มีเพียงภาวะต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลันที่อาจมีอาการแสดงเช่นปวดตา ตาแดง การมองเห็นลดลง การตรวจลักษณะประสาทตาเสื่อมที่เข้าได้กับการสูญเสียลานสายตาจึงสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ เป้าหมายของการรักษาต้อหินนั้นคือ ชะลอความเสื่อมของโรคโดยรักษาการมองเห็นและคงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิตโดยการรักษาที่ได้ผลคือการควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อประสาทตาด้วยการใช้ยาหยอดลดความดันลูกตา การเลเซอร์ และการผ่าตัด แต่เนื่องจากต้อหินเป็นโรคความเสื่อมการรักษาไม่หายขาด ความเข้าใจโรค ความมีวินัยในการหยอดยา และการหมั่นติดตามการรักษาส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ของการรักษา การรักษาทางเลือกอื่นๆเช่นอาหารเสริม การนวดตาเป็นการแอบอ้างและโฆษณาที่เกินจริง
**************************************
#รพเมตตา (วัดไร่ขิง) #ต้อหิน #คุณภาพชีวิตที่ดี#ป้องกันการสูญเสียการมองเห็น #พญ.กุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์
-ขอขอบคุณ-
13 มีนาคม 2566
แพทย์หญิงกุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ