สาธารณสุขกำชับเจ้าหน้าที่และ อสม.ในจังหวัดที่มีน้ำท่วม เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู อย่างใกล้ชิด แนะบ้านเรือนที่ส้วมใช้การไม่ได้ ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วมมือถือ อย่าถ่ายหรือทิ้งขยะลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย เผยรอบ 16 วัน พบคนป่วยแล้วกว่า 180,000 ราย
วันนี้ (27 กันยายน 2551 ) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร เดินทางไปติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ตำบลบ้านทาม อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัย 450 ชุด และเยี่ยมนมัสการถวายจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์ ที่วัดอรัญไพรศรี อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
นายวิชาญ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดขณะนี้ สิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัยที่สำคัญคือโรคภัยหรือการเจ็บป่วยที่มากับน้ำท่วม ได้แก่โรคน้ำกัดเท้าหรือเท้าเปื่อย ตาแดง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. เฝ้าระวังโรคและออกให้คำแนะนำการป้องกันการเกิดโรคแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดเกิดขึ้นแต่อย่างใด
นายวิชาญกล่าวต่อว่า ในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมและส้วมใช้การไม่ได้ ประชาชนอย่าถ่ายอุจจาระลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำที่ท่วมขังสกปรก เชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำได้ง่าย อาจทำให้เกิดโรคระบาด และยากต่อการควบคุมโรคมากขึ้น ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ระดมแจกถุงดำกว่า 1 ล้านใบ เพื่อให้ประชาชนใช้ถ่ายอุจจาระลงในถุง เป็นส้วมมือถือแทน โดยเฉพาะเวลากลางคืนซึ่งเดินทางไปใช้ส้วมยากลำบาก รวมทั้งให้ทิ้งขยะเศษอาหารต่างๆลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปเผาทำลาย
นอกจากนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ก่อนเตรียม และปรุงอาหาร ก่อนกินอาหารและหลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง เก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างคืนต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค และดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีตราเครื่องหมาย อย.
นายวิชาญกล่าวต่ออีกว่า ผลสรุปการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11-26 กันยายน 2551 รวม 16 วัน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ให้บริการ 960 หน่วย มีผู้เจ็บป่วยทั้งสิ้น 187,242 ราย ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า 28,240 ราย ไข้หวัด 23,968 ราย ผื่นคัน 11,868 ราย ปวดเมื่อย 10,080 ราย ระบบทางเดินอาหาร 6,490 ราย
สำหรับที่จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง กบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ นาดี ประจันตคามและศรีมโหสภ สถานบริการสาธารณสุขคือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัยถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหาย 7 แห่ง อยู่ที่กบินทร์บุรี 4 แห่ง ศรีมหาโพธิ 2 แห่งและประจันตคาม 1 แห่ง แต่ยังทำการได้ ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยมาตั้งแต่ 23 กันยายน 2551 ถึงวันนี้ มีผู้ป่วย 1,215 ราย ส่วนใหญ่ เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัดและ ผื่นคัน
***************************** 27 กันยายน 2551
View 9
27/09/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ