เตือน!! อย่าใช้ Smart watch-smart ring ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด อย. ยังไม่อนุมัติ
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 12 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผย โรคไตเป็นภัยเงียบ ระยะต้นมักไม่แสดงอาการ!! แนะประชาชนดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคไต ลดโซเดียม ลดการปรุง บริโภคอาหารที่มีรสเค็มให้น้อยที่สุด ช่วยลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน เพื่อสุขอนามัยที่ดีต่อสุขภาพ
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็น “วันไตโลก” จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะรณรงค์ให้คนไทยเกิดความตระหนักในการป้องกันโรคไต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 11 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตแล้ว ซึ่งโรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไตทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นบ่อยๆ โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น จากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต เป็นต้น ซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วการทำงานของไตจะเสื่อมลงจนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว จึงพบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือนโรคไต คือ มีอาการซีด เพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปัสสาวะสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปวดศีรษะ ตรวจพบความดันโลหิตสูง ตัวบวม เท้าบวม ปวดหลัง และปวดบั้นเอว ทั้งนี้ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการของไตวายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีทั้งการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและการตรวจปัสสาวะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิเช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคภูมิคุ้มกันแพ้ภัยตัวเอง เช่น โรคลูปัส (SLE) โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต อาทิเช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต เป็นต้น
แพทย์หญิงกรทิพย์ ผลโภค นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ งานโรคไต กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า เราควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำร้ายไต และหันมาดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคไต ดังนี้ 1.ลดโซเดียม แนะนำบริโภค โซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ลดการปรุง เลิกผงชูรส หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ 2.หลีกเลี่ยงยาแก้ปวด ยาชุด สมุนไพร หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3.ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ 5.งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6.กลุ่มเสี่ยงโรคไต ต้องรักษาและควบคุมโรคให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันไตเสื่อม 7.รับการตรวจสุขภาพประจำปี คัดกรองโรคไต เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
************************************************
#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #โรคไต #วันไตโลก
- ขอขอบคุณ -
9 มีนาคม 2566