เตือน!! อย่าใช้ Smart watch-smart ring ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด อย. ยังไม่อนุมัติ
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 12 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (3 มีนาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ในการประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (Coordinating Unit for One Health) ครั้งที่ 1/2566 การประชุมในครั้งนี้ นายแพทย์ธเรศ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง การเตรียมการรับมือโรคไข้หวัดนก (H5N1) มีการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก ทั้งในคนและในสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จัดทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และให้มีการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะบริเวณด่านช่องทางเข้า - ออก ระหว่างประเทศซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกทั่วโลกทั้งในสัตว์ปีกและคน ที่มีแนวโน้มการรายงานสูงขึ้น ร่วมกับมีการรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา 2 ราย สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีรายงานไข้หวัดนกในคนรายล่าสุดเมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตามจากการประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาด ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ไข้หวัดนกอาจจะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลที่พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายแรกในปี 2547 และรายสุดท้ายในปี 2549 รวม 25 ราย มีผู้เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกหรือสถานที่ที่มีสัตว์ปีก และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 เข็ม ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย และยังไม่มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศไทยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 กรมควบคุมโรค ได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมควบคุมโรคมาหารือร่วมกัน ในประเด็นเกี่ยวกับ 1) สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก 2) ความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนก 3) แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก 4) การเฝ้าระวังในชุมชนโดยเครือข่าย อสม. นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังร่วมกับกรมอุทยานฯ เฝ้าระวังร่วมกับจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชา ให้มีการตรวจตราผู้เดินทาง และร่วมกับกรมปศุสัตว์ ดูแลการนำเข้าสัตว์จากชายแดน ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามสัตว์ป่วยในพื้นที่โดยเฉพาะสัตว์ปีกอีกด้วย
และในวันนี้ ผู้บริหารทั้ง 3 กรม จาก 3 กระทรวง ได้ร่วมลงนาม แสดงเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หวัดนก อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการมาตรการซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ 1) ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศ รวมถึงเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ ทั้งในคนและในสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 2) ประเมินความเสี่ยงสถานการณ์โรคเป็นระยะ หากมีแนวโน้มจะเกิดการระบาดของโรค จะแจ้งไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคไข้หวัดนก ระดับจังหวัด
และเน้นย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง โดยการรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และให้ดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างการ หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
*********************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 3 มีนาคม 2566