กรมวิทย์ฯ เปิดสนามทดสอบนวัตกรรม มุ่งพัฒนางานเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพ นำไปใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและระบบสาธารณสุขของประเทศ

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรม “โครงการพัฒนาสนามทดสอบนวัตกรรม DMSc Smart Innovation Sandbox” พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง The Innovation for Life การอภิปรายพิเศษ เรื่อง การพัฒนางานเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม โดยนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.อภิวัฎ ธวัชสิน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ และมีบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสภาพแวดล้อม ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ดังนั้น การปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นโจทย์ ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ในการสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศไปสู่การแข่งขันด้วยฐานขององค์ความรู้ การใช้นวัตกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินประสบความสำเร็จประการหนึ่ง คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องมีความพร้อม
   
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดให้มีหลักสูตรบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปีงบประมาณ 2564-2565 เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มีทักษะกระบวนการคิดเชิงออกแบบ และมีองค์ความรู้พื้นฐานจำเป็น จนนำมาสู่การจัดทำโครงการพัฒนาสนามทดสอบนวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ DMSc Innovation Sandbox ในปี 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้นำผลงานมาทดลองและทดสอบร่วมกัน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จากหน่วยงานต่างๆ เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ และทวนสอบกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละราย ในลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจในแนวทาง การพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม ผลงานมีความน่าเชื่อถือ สามารถต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์จริง และเป็นครูให้คำแนะนำบุคลากรในหน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ผ่านการทดสอบความปลอดภัย สอดคล้องตามข้อกำหนดหรือกฎหมาย และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ สามารถสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติในวงกว้างอย่างยั่งยืนต่อไป

“โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว 8 เดือน มีทั้งการให้ความรู้ในภาคทฤษฎี การฝึกปฏิบัติ และการศึกษาดูงานองค์กรนวัตกรรมต้นแบบ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 30 ราย จาก 10 หน่วยงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยผู้เข้าร่วมโครงการได้นำผลงานมาทดลองและทดสอบ จำนวน 20 รายการ จำแนกเป็น ผลงานด้านการควบคุมและป้องกันโรค 3 รายการ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 8 รายการ ด้านระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ 4 รายการ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ 5 รายการ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว



   
   


View 501    14/02/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ