แถลงการณ์สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์
- กรมการแพทย์
- 14 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วม SAVE แกงส้ม เมื่อแกงส้มของไทย ถูกจัดอับดับให้เป็นอาหารยอดแย่ที่สุดในโลก เผยแกงส้ม เป็นเมนูชูสุขภาพที่อยู่คู่ครัวไทย เพียบพร้อมทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และคุณประโยชน์
ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากประเด็นในโลกโซเชียลเมื่อเมนูแกงส้มของไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอาหารยอดแย่ที่สุดในโลกโดยเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดัง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 12 จากการโหวตให้เมนูแกงส้มมีคะแนน 2.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ส่งผลให้เกิดดราม่าเกิดแฮชแท็ก #SAVEแกงส้มในประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงขอร่วม #SAVEแกงส้ม และอยากขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วโลกเปิดใจรักแกงส้ม รวมทั้งเปิดประโยชน์และคุณค่าโภชนาการของแกงส้มในฐานะแกงไทยที่ถือเป็นอาหารหลักอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อว่า แกงส้มจัดเป็นแกงไทยชนิดไม่ใส่กะทิ มีรสชาติความเป็นไทย ทั้งรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว และหวานปะแล่มครบรส ความโดดเด่น คือ รสเปรี้ยวนำจากมะขามเปียกซึ่งเป็นแหล่งวิตามินซีชั้นดี ตามด้วยสรรพคุณจากพริกแกงไทยซึ่งเป็นการใช้สมุนไพร อาทิ พริก กระเทียม หอมแดง กระชาย กะปิ มาโขลกรวมกัน จึงทำให้มีสรรพคุณหลากหลายมากมาย กระชายมีฤทธิ์ขับลมและยังช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ หอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก พริกชูรสชาติและเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน กระเทียมช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด มะขามเปียกมีวิตามินซีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนแกงส้มได้ชื่อว่าเป็น ‘แกงเพื่อสุขภาพ’ ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนผสมของพริกแกงเท่านั้น แกงส้มยังใส่ผักและสมุนไพรหลายชนิดลงไป เช่น ผักกาดขาว ดอกแค แตงโมอ่อน มะละกอดิบ ผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น นอกจากนี้แกงส้มยังมีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลาหรือกุ้ง ที่นิยมนำมาโขลกรวมกับพริกแกงหรือใส่แยกต่างหาก ซึ่งแกงส้มของแต่ละภาคจะมีขั้นตอนการปรุงอาหารแตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในท้องถิ่นผักหลากหลายชนิด ทำให้แกงส้มมีไขมันต่ำ อุดมด้วยใยอาหารช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ผักมีวิตามินเอที่ช่วยการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย วิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันเลือดออกตามไรฟัน วิตามินบี 12 จากเนื้อสัตว์จะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และการทำงานของระบบประสาทและสมอง
“สำหรับคุณค่าโภชนาการของแกงส้ม สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีน้ำหนักตัวปกติ สามารถกินข้าวสวยแกงส้มผักรวมร่วมกับอาหารอย่างอื่นได้อีก เพราะแกงส้มจัดเป็นอาหารให้พลังงานต่ำ และอาหารที่นิยมกินกับแกงส้มมักจะเป็นไข่เจียว แต่เนื่องจากแกงส้มถ้าใส่กุ้งสดจะให้โคเลสเตอรอลสูง เมื่อทานรวมกับไข่เจียวอีก 1 ฟอง อาจจะให้โคเลสเตอรอลเกินปริมาณโคเลสเตอรอลที่แนะนำในแต่ละวันได้ ซึ่งปริมาณที่แนะนำ คือ ไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน จึงอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ดังนั้น ถ้ากินแกงส้มผักรวมกุ้งสด ควรเลือกกินกับอาหารอื่นที่ให้โคเลสเตอรอลต่ำ หรือถ้าต้องการกินแกงส้มกับไข่เจียว แนะนำให้เปลี่ยนจากเนื้อกุ้งเป็นเนื้อปลาแทน อีกข้อควรระวัง คือ ปริมาณโซเดียม ซึ่งอยู่ในเครื่องแกงและเครื่องปรุงรสของแกงส้มจะค่อนข้างสูง สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร ต้องระวังหากกินมาเกินไป จะทำให้ได้รับโซเดียมเกินได้ ที่สำคัญ ต้องกินเมื่อปรุงสุกใหม่ เพื่อความอร่อยถูกใจ อนามัยไม่ถูกลืม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 7 กุมภาพันธ์ 2566