แถลงการณ์สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์
- กรมการแพทย์
- 15 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำลังให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน 4 สายพันธุ์จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุก หรือความได้เปรียบด้านอัตราการเติบโต เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค โดยช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบข้อมูลสายพันธุ์ในฐานข้อมูลสากล GISAID ดังนี้
• BF.7 จำนวน 1,147 ตัวอย่าง ร้อยละ 4.6
• BQ.1 และลูกหลาน จำนวน 11,674 ตัวอย่าง ร้อยละ 46.9 รวมถึง BQ.1.1 7,189 ตัวอย่าง ร้อยละ 28.9
• BA.2.75 และลูกหลาน จำนวน 3,473 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.9 รวมถึง BA.2.75.2 35 ตัวอย่าง ร้อยละ 1 และ CH.1.1 1,672 ตัวอย่าง ร้อยละ 6.7
• XBB และลูกหลาน จำนวน 4,049 ตัวอย่าง ร้อยละ 16.3 รวมถึ งXBB.1.5 3,005 ตัวอย่าง ร้อยละ 12.1
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์เดลตาถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย
ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2566 จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 689 ราย พบสัดส่วนสายพันธุ์หลักคือสายพันธุ์ BA.2.75.* คิดเป็นร้อยละ 88.5 โดยผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 94 รายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566 พบสัดส่วนสายพันธุ์ BA.2.75.* เป็นหลักในกลุ่มผู้ติดเชื้อ คิดเป็นร้อยละ 87.2 (จำนวน 82 ราย) และพบสายพันธุ์ BA.4/BA.5คิดเป็นร้อยละ 8.5 (จำนวน 8 ราย) โดยสัดส่วนสายพันธุ์ BA.2.75.*ร้อยละ 85.1 พบในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดในเดือน ก.ย.2565 และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.5
สำหรับผลการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75(BA.2.75.*) เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.5.1.3 (BN.1.3), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มพบในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565 จากการวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์ที่เผยแพร่ในรอบสี่เดือน (ตุลาคม 2565-มกราคม 2566) พบอุบัติการณ์สายพันธุ์ BA.2.75.* ร้อยละ 73.8 ซึ่งรวมถึง BN.1.* ร้อยละ 59 และ CH.1.1.* ร้อยละ 6.8 โดยสายพันธุ์ที่พบมีสัดส่วนสูง ได้แก่ BN.1.* ซึ่งมีสัดส่วนของสายพันธุ์ BN.1.3.* สูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 82.4 ในขณะที่สายพันธุ์ BA.5.2 ซึ่งเดิมเคยเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยมีสัดส่วนลดลงคิดเป็นร้อยละ 17.9 และในเดือนมกราคม 2566 ข้อมูลการกระจายสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์ BN.1* ร้อยละ 74.5
สำหรับสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 (BA.2.75 + R346T, K444T, L452R, และ F486S) สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร พบรายงานครั้งแรกในอินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และแพร่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบสายพันธุ์ CH.1.1 และสายพันธุ์ย่อยกว่าร้อยละ 6 ของข้อมูลจากทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2566) และพบมากที่สุดในสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสิงคโปร์ โดยสายพันธุ์ CH.1.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญคือ K444T, L452R, N460K และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือจากการฉีดวัคซีนได้ดี มีคุณสมบัติดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์ Evusheld และ Bebtelovimab สำหรับประเทศไทย พบรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 สายพันธุ์ CH.1.1 และสายพันธุ์ย่อยคิดเป็นกว่าร้อยละ 7.3 ของข้อมูล sequence ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่ระบาดในอเมริกา ยังไม่พบในประเทศไทย
“ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีการแชร์ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ความรุนแรงของโรคหรือคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสังเคราะห์” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
*********** 7 กุมภาพันธ์ 2566