กรมอนามัย เตือน ขณะนี้บนสื่อออนไลน์มีอินฟูเอนเซอร์จำนวนมาก นิยมทำคอนเทนต์ กินอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ หวังเพิ่มยอดผู้ติดตาม อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
 ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน แนะนำปรุงให้สุกก่อนกิน ปลอดภัยกว่า

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ
ในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีหญิงสาวรายหนึ่งกินอาหารสุดพิสดาร ด้วยการนำปูเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตมาทำอาหารด้วยการนำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ และใช้มือหยิบปูที่ยังดิ้นอยู่เข้าปากกินสดๆ โดยมีจำนวนผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากนั้น กรมอนามัย จึงอยากเตือนว่าการบริโภคอาหารลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ควรเลียนแบบ เนื่องจากการกินเนื้อสัตว์ดิบ เช่น ปูดิบหรือปูดอง กุ้งแช่น้ำปลา หรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ที่ใช้ความร้อนในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงอาหารประเภทยำต่างๆ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์แค่พอสุกเท่านั้น แล้วใส่เครื่องปรุงและเน้นรสชาติที่เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงได้รับไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ อย่างพยาธิใบไม้ปอด ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะ
ไม่สามารถฆ่าให้ตายได้

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าพยาธินั้นจะไม่สามารถแพร่พันธุ์ในร่างกายของมนุษย์ได้
แต่สามารถชอนไชเข้าไปฟักตัวในปอด และมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 เดือน ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด และบางรายอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องระมัดระวังในการบริโภคอาหารเป็นพิเศษ ดังนั้น การนำปู
มาปรุงประกอบอาหาร ควรเลือกปูที่สดใหม่ นำมาล้างให้สะอาด ของตนเอง หากต้องปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบ
เป็นปู ควรนำปูมาทำให้ปรุงให้สุกทั่วถึง ด้วยความร้อนและระยะเวลาที่เหมาะสม ก่อนนำไปประกอบอาหาร
เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่จะได้รับพยาธิเข้าไปในร่างกาย

      “ทั้งนี้ การประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นเมนูใด ก่อนนำวัตถุดิบมาปรุง ต้องล้างให้สะอาด และใช้ความร้อนทำให้สุกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ที่ต้องให้สุกถึงข้างใน เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ไข่พยาธิ และสารเคมีตกค้าง นอกจากนี้ควรแยกอุปกรณ์และภาชนะ ประกอบอาหาร เช่น มีดเขียงในการเตรียมอาหารสด เก็บอาหารในภาชนะที่มีการปิดผนึก ไม่ให้อาหารที่ปรุงสุกแล้วกับอาหารสดอยู่ร่วมกัน ที่สำคัญ ยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว
ล้างมือ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น
และควรสังเกตป้ายสัญลักษณ์ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” หรือ
Clean Food Good Taste ที่กรมอนามัยรับรอง
เพื่อสร้างความมั่นใจในความสะอาดปลอดภัยของอาหารและร้านค้าให้กับผู้บริโภค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว    

***

กรมอนามัย /  27  มกราคม 2566



   
   


View 373    27/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ