รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบชุดตรวจการติดเชื้อฉี่หนู ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ และเจลแอลกอฮอล์และสเปรย์ ที่พัฒนาและผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล รวมมูลค่า 2.1 ล้านบาท เพิ่มความครอบคลุมในการตรวจวินิจฉัย สร้างความเข้มแข็งด้านยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศ

        วันนี้ (4 มกราคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รับมอบชุดตรวจวินิจฉัยและวัสดุทางการแพทย์ มูลค่า 2.1 ล้านบาท จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะ

            นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้ทำให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติทางสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และยังทำให้เกิดความตื่นตัวในการเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังคงให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ซึ่งปัจจุบันพบเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคฉี่หนู 3,485 ราย กระจายใน 68 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 5.27 ต่อแสนประชากร ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยมหิดลนำชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ที่เป็นการวิจัยพัฒนาโดยฝีมือของคนไทย รวมถึงวัสดุทางการแพทย์ต่างๆ มามอบให้ใช้ในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มความครอบคลุมในการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าและสร้างการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป

              ด้าน ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีการส่งเสริมการพัฒนา วิจัยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนผลิตขึ้นใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทานของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้าน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จนได้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา มีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ การทดสอบและผลิต โดยโรงงานต้นแบบของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล (ISO 13485; 2016) และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จาก อย. โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมามอบให้กับกรมควบคุมโรคครั้งนี้ ประกอบด้วย ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว (Onsite Leptospira Rapid Test) 10,000 ชุด, ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ (Contaminant Detection Kit for Medical Devices) 10,000 ชุด และเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ 480 ขวด

************************************* 4 มกราคม 2566

*************************************

 



   
   


View 1239    04/01/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ