ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยกย่องครอบครัวของผู้ป่วยชายชาวเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย เกิดอุบัติเหตุถูกรถชนและมีภาวะสมองตาย ทีมแพทย์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ได้สื่อสารทำความเข้าใจกับญาติ ซึ่งยินยอมให้บริจาคอวัยวะ คือ ดวงตาและไต เนื่องจากอยากให้ผู้ป่วยได้สร้างความดีช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นหลังเสียชีวิต พร้อมกำชับโรงพยาบาลเชิญชวนประชาชนสร้างกุศลด้วยการบริจาคอวัยวะและสื่อสารทำความเข้าใจกับญาติเมื่อผู้ป่วยมีภาวะสมองตาย

          วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีนโยบายจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทยสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ และรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคดวงตาและอวัยวะ ซึ่งจะนำไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกถึง 8 ชีวิต เป็นการให้ชีวิตใหม่แก่เพื่อนมนุษย์หลังเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย

          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ล่าสุด ได้รับรายงานจาก แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้รับบริจาคอวัยวะประกอบด้วย ไต 2 ข้าง และดวงตา 2 ข้าง จากผู้ป่วยชายชาวเมียนมา อายุ 43 ปี ที่เข้ามาทำงานรับจ้างในไทยโดยถูกกฎหมาย แล้วเกิดอุบัติเหตุรถชนอาการสาหัส ต่อมาผู้ป่วยมีภาวะสมองตาย ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลได้ติดตามอาการและเจรจาขอรับบริจาคอวัยวะกับมารดาและน้องสาวของผู้ป่วยผ่านเพื่อนร่วมงานที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งมารดาและน้องสาวได้ตัดสินใจบริจาค และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ต่างเห็นด้วย เนื่องจากต้องการให้ผู้ป่วยได้ทำความดี สร้างกุศลเป็นครั้งสุดท้ายหลังเสียชีวิต ทีมจัดเก็บอวัยวะของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จึงผ่าตัดนำอวัยวะดังกล่าวส่งให้กับสภากาชาด ไทยโดยสายการบินนกแอร์

          "กระทรวงสาธารณสุข ขอยกย่องการตัดสินใจของครอบครัวที่ให้ผู้ป่วยได้ทำความดีด้วยการบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป ทั้งนี้ นอกจากการเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมบริจาคอวัยวะแล้ว การสื่อสารการทำความเข้าใจกับญาติของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย ไม่ว่าก่อนหน้านี้ผู้ป่วยจะแสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะมาแล้วหรือไม่ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เกิดการยินยอมให้บริจาคอวัยวะเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นต่อไปเหมือนเช่นกรณีดังกล่าว จึงขอให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งให้ความสำคัญกับการสื่อสารทำความเข้าใจกับญาติผู้ป่วยด้วย" นพ.โอภาสกล่าว 

          สำหรับจำนวนผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตายในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีปีละประมาณ 200 กว่าราย โดยปี 2560 จำนวน 254 ราย ปี 2562 จำนวน 233 ราย ปี 2562 จำนวน 257 ราย ปี 2563 จำนวน 285 ราย ปี 2564 จำนวน 202 ราย และปี 2565 จำนวน 226 ราย ส่วนผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะในปีงบประมาณ 2565 มี 577 ราย แบ่งเป็น การปลูกถ่ายไต 455 ราย ปลูกถ่ายตับ 84 ราย ปลูกถ่ายหัวใจ 30 ราย ปลูกถ่ายตับอ่อน 1 ราย ปลูกถ่ายไตพร้อมตับอ่อน 1 ราย  ปลูกถ่ายไตพร้อมตับ 4 ราย และปลูกถ่ายไตหร้อมหัวใจ 2 ราย

***************************************** 5 พฤศจิกายน 2565

*******************************************

 



   
   


View 1323    05/11/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ