กระทรวงสาธารณสุข สั่งพื้นที่ประสบภัยเข้มความสะอาดอาหารและน้ำดื่มหลังตรวจพบอาหารและน้ำ ใน 6 จังหวัดน้ำท่วมมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารปนเปื้อนสูงถึงร้อยละ 66 ส่วนผลการตรวจน้ำบรรจุขวดและน้ำประปาพบปนเปื้อนร้อยละ 64 แนะประชาชนก่อนกิน-ดื่ม ต้องต้มจนเดือดนาน 15 นาที นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังคุณภาพอาหารและน้ำ ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตภาคกลางว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมอนามัย ทำการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพของอาหารและน้ำดื่มในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำจาก 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาทระหว่างวันที่ 21-27 ตุลาคม 2549 โดยเก็บทั้งอาหารกล่องบริจาค อาหารที่ชาวบ้านทำกันเองในบ้านเรือน วัด รวมทั้งอาหารที่วางขายตามชุมชน ตลาด มาตรวจ เช่น ผัดเผ็ด แกง ผัดกระเพรา ผัดเจ ต้มจืดสาหร่ายรวมทั้งหมด 93 ตัวอย่าง และสุ่มเก็บน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำประปาในหมู่บ้าน และน้ำที่รถบรรทุกมาแจกเก็บตรวจ 92 ตัวอย่าง นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ผลการตรวจพบอาหาร มีการปนเปื้อนเชื้อโคลีฟอร์มแบคทีเรีย(Coliform Bacteria) 61 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 66 จังหวัดที่พบปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียมากที่สุด คือ ชัยนาท จากการสุ่ม 4 ตัวอย่างพบทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100 รองลงมาคือ สิงห์บุรีพบร้อยละ 77 ปทุมธานีร้อยละ 67 นนทบุรีร้อยละ 65 พระนครศรีอยุธยาร้อยละ 61 และอ่างทองร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังพบมีการปนเปื้อนเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ( Staphylococcus aureus) ที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3 พบใน นนทบุรี สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา สำหรับผลการตรวจตัวอย่างน้ำ พบปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 59 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 64 จังหวัดที่พบมากได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาทและอ่างทองพบร้อยละ 67 นนทบุรี ร้อยละ 64 สิงห์บุรี ร้อยละ 63 และปทุมธานี ร้อยละ 61 นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า การพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำและอาหาร เป็นตัวชี้วัดความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม แสดงให้เห็นว่าอาหารและน้ำดื่มที่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมใช้บริโภคบางส่วนยังไม่สะอาด มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ และอาหารเป็นพิษ โดยเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล เช่น อุจจาระของคนหรือสัตว์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกพื้นที่เข้มงวดตรวจตราความสะอาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจึงต้องระมัดระวังการบริโภคทั้งอาหารและน้ำดื่มให้มาก โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสร็จใหม่ๆ หากปรุงเสร็จและยังไม่รับประทานต้องปกปิดอาหารอย่างให้แมลงวันตอม หากทิ้งไว้นานต้องอุ่นอาหารให้เดือดนาน 15 นาที ส่วนอาหารกล่องที่ได้รับบริจาคมา ให้ดูสภาพกล่องต้องไม่รั่ว หรือเปื้อนสิ่งสกปรก และไม่มีกลิ่นบูดเสีย ส่วนน้ำดื่มขอให้เลือกน้ำที่มีตราเครื่องหมายของอย. สภาพขวดไม่รั่วซึม หรือปนเปื้อนดินโคลน หากเป็นน้ำที่รถบรรทุกนำมาแจก ต้องต้มให้เดือดนาน 15 นาทีก่อน ซึ่งจะสามารถทำลายเชื้อโรคทุกชนิดได้ และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากใช้ห้องส้วม ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด รักษาความสะอาดของภาชนะและอุปกรณ์ และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ นายแพทย์ปราชญ์กล่าว *********************************** 31 ตุลาคม 2549


   
   


View 13    31/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ