องค์การอนามัยโลก เร่งรัดการป้องกัน ดูแล รักษาผู้ป่วยเอดส์ใน 11 ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเกือบ 7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ให้ยาต้านไวรัสได้มากที่สุด จำนวนกว่า 1 แสนคน วันนี้ (31 ตุลาคม 2549) ที่โรงแรมปาร์ค นายเลิศ กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารโครงการเอดส์ และโครงการอนามัยการเจริญพันธุ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ จาก 11 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์ เลสเต้ เพื่อเร่งรัดการขยายการแก้ปัญหาโรคเอดส์ในภูมิภาค จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2549 โดยมีผู้แทนจากองค์กรสากลด้านเอดส์ผู้ให้การสนับสนุนการเงิน เช่นมูลนิธิบิลเกต ออสเตรเลียเอดส์ จำนวน 74 คน เข้าประชุมด้วย นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีวัตถุประสงค์ในการเร่งรัดจัดระบบการให้บริการยาต้านไวรัสเอดส์หรือเออาร์วี (ARV) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีของ 11 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ครอบคลุมภายในพ.ศ 2553 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจี 8 ได้บริจาคเงินสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ทั่วโลก 5000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนับว่ามีความโดดเด่นในเรื่องนี้มาก ทั้งเรื่องการให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ และการป้องกัน ลดผู้ติดชื้อรายใหม่ และมีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิก เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ซึ่งในการประชุมดังกล่าวแต่ละประเทศจะนำเสนอมาตรการแก้ปัญหา เพื่อค้นหาปัจจัยที่จะทำให้งานบรรลุความสำเร็จเพื่อจัดสรรงบประมาณสนับสนุนต่อไป ทั้งนี้ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) รายงานข้อมูลล่าสุดในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 38.6 ล้านคน โดยติดเชื้อรายใหม่ 4 ล้านกว่าคน มากที่สุดที่ประเทศในแถบซับซาฮารา ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 60 สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมประมาณ 6.7 ล้านคน นับว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก มีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันระหว่างชายหญิง ผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 80 อยู่ในประเทศอินเดีย และ ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์เข้าถึงยาต้านไวรัส หรือเออาร์วี (ARV) น้อยมาก เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเร็วขึ้น สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2527 ถึง 30 กันยายน 2549 มีรายงานผู้ป่วยโรคเอดส์แล้ว 304,265 ราย มากที่สุดในกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 20 – 39 ปี คิดเป็นร้อยละ 76 โดยสาเหตุหลักติดเชื้อมาจากเพศสัมพันธ์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 84 โดยได้ตั้งเป้าหมายเร่งรัดจะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้มีไม่เกิน 5,300 ราย ในพ.ศ. 2553 นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า มาตรการดำเนินการแก้ปัญหาเอดส์ของไทย มุ่งเน้นใช้ยุทธศาสตร์ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การเร่งรัดการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคู่สมรสที่คนใดคนหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มชายรักชาย หญิงบริการ กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด จากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ปี 2548 ซึ่งมีประมาณ 17,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงที่ติดเชื้อจากสามี ร้อยละ 38 เป็นกลุ่มชายรักชายร้อยละ 22 ติดเชื้อจากหญิงขายบริการร้อยละ 11 ติดเชื้อจากภรรยาร้อยละ 9.6 ติดจากการใช้ยาเสพติดแบบฉีดร้อยละ 6.4 โดยมีเป้าหมายการเร่งรัดดังนี้ ประการแรกส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ในคู่สามีภรรยาที่คนใดคนหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี จะให้ใช้เพิ่มจากร้อยละ 2 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และรณรงค์การตรวจเลือด การรับคำปรึกษาโดยสมัครใจ ในกลุ่มชายรักชายรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ส่วนกลุ่มหญิงบริการทางเพศและผู้ใช้บริการ ให้ใช้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กำหนดเป้าหมายลดการใช้อุปกรณ์การฉีดยาร่วมกันจากร้อยละ 36 เหลือไม่เกินร้อยละ 18 ในกลุ่มเยาวชน จะขยายการให้ความรู้ด้านเอดส์และเพศศึกษา การเพิ่มทักษะชีวิต และการเข้าถึงถุงยางอนามัย ให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงใช้ถุงยางอนามัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ประการที่ 2 การจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ได้นำโครงการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ ตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในรอบ 5 ปีมานี้มีผู้ป่วยเอดส์รับยาไปแล้วกว่า 100,000 ราย และมีผู้รับบริการใหม่เดือนละประมาณ 2,000 - 2,500 ราย ในปี 2550 ได้ตั้งเป้าหมายให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ 30,000 ราย รวมทั้งเร่งขยายบริการด้านการดูแล จัดระบบบริการสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กกำพร้า เด็ก และผู้สูงอายุ ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2553 คาดว่าต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจต้องขอรับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศด้วย **************************** 31 ตุลาคม 2549


   
   


View 7    31/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ