สธ.มหาสารคาม รับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคฯ” เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 2.8 หมื่นคน พร้อมเสริมแกร่ง อสม. ช่วยลดความเสี่ยง NCDs
- สำนักสารนิเทศ
- 216 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายในจังหวัดหนองบัวลำภู กรณีผู้เสียชีวิต ระดมแพทย์นิติเวชชันสูตร ยึดหลักรวดเร็ว เคารพผู้วายชนม์ ส่วนผู้บาดเจ็บทุกรายอาการปลอดภัย เด็กเล็ก 3 ราย ผ่าตัดแล้วอาการดีขึ้น ยังเฝ้าระวังในห้องไอซียูมอบกรมสุขภาพจิตวางแผนดูแลเยียวยาจิตใจ 3 ระยะ ต่อเนื่องช่วง 2 สัปดาห์นี้จนถึง 3 เดือน พบกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง 10 กว่าคน ส่งจิตแพทย์เข้าดูแลแล้ว
วันนี้ (10 ตุลาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู โดยนายอนุทินกล่าวว่า หลังเกิดเหตุในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 สิ่งสำคัญเร่งด่วนคือ การรักษาชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กให้ปลอดภัย ซึ่งทีมแพทย์ศัลยกรรมประสาทได้ดูแลอย่างเต็มที่ ภาพรวมผู้บาดเจ็บทั้ง 7 ราย อาการปลอดภัย พ้นขีดอันตรายแล้ว จะฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาพปกติมากที่สุด จากนี้คือการเร่งเยียวยาจิตใจ ทั้งญาติที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดจากการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บเล็กน้อย และญาติที่สูญเสีย ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จากโรงพยาบาลจิตเวชในภาคอีสานและส่วนกลาง ลงพื้นที่ดูแลแต่ละครอบครัวแล้ว
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 37 ราย ซึ่งส่งจากหนองบัวลำภูไปชันสูตรที่โรงพยาบาลอุดรธานี มีการวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้มีความพร้อมทั้งแพทย์ อุปกรณ์ และห้องชันสูตร โดยระดมแพทย์นิติเวชจากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยดำเนินการ และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายฉุกเฉินช่วยลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตด้วยความเรียบร้อย อย่างมีศักดิ์ศรีและเคารพต่อผู้เสียชีวิต ทำให้สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงเช้า ประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม 2565
นพ.โอภาส กล่าวว่า การชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 37 ราย มีนโยบายว่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย หลักวิชาชีพและมีความรวดเร็ว เพื่อส่งให้ครอบครัวนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งหมด 10 ราย หายกลับบ้านแล้ว 3 ราย ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 7 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลหนองบัวลำภู 5 ราย ได้แก่ 1.เด็กชายอายุ 3 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเอาก้อนเลือดออก ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว หายใจเองได้ อยู่ระหว่างการติดตามไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน 2.เด็กชายอายุ 4 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดสมองเอาก้อนเลือดออกมีภาวะสมองบวม หลังผ่าตัดครั้งที่ 2 ภาวะสมองบวมดีขึ้น ยังต้องติดตามอาการ 3.หญิงอายุ 56 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเอาก้อนเลือดออก อาการดีขึ้น กำลังฝึกถอดเครื่องช่วยหายใจ 4.หญิงอายุ 42 ปี บาดเจ็บในช่องท้อง ลำไส้เล็กรั่วซึม กระดูกหน้าแข้งหัก ได้ผ่าตัดซ่อมแซมลำไส้และดามกระดูกที่หัก อาการฟื้นตัวดี 5.เด็กหญิงอายุ 12 ปี บุตรผู้ป่วยรายที่ 4 อาการดี แพทย์ให้อยู่กับมารดาซึ่งยังต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยดูแลด้านจิตใจ ส่วนที่โรงพยาบาลอุดรธานี มีผู้ป่วย 2 ราย คือ 6.เด็กอายุ 3 ปี ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเอาก้อนเลือดออก ขณะนี้ถอดเครื่องช่วยหายใจได้ อาการดีขึ้น พูดคุยได้ดี และ 7.ชายอายุ 21 ปี บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังต้นคอ ผ่าตัดเอากระสุนออกแล้ว ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำกายภาพบำบัดและติดตามอาการ
ด้าน พญ.อัมพร กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีกลุ่มผู้รับผลกระทบทางตรง คือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต 170 คน โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 60 คน ส่วนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ประชาชนในตำบลอุทัยสวรรค์ 6,591 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กใน 2 โรงเรียนใกล้ที่เกิดเหตุ 129 คน และกลุ่มประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งได้วางแผนดูแลเยียวยาจิตใจเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะเริ่มแรก
ในช่วง 3 วันแรก จะให้การดูแลครอบครัวผู้ รับผลกระทบทางตรง 37 ครอบครัวเป็นรายบุคคลให้ครบถ้วนใน 2 สัปดาห์ 2.ระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป จะดูแลต่อเนื่องเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจ ความเจ็บปวดและความทุกข์ที่อาจจะมีมากขึ้น โดยกระจายทีม MCATT ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมบ้านเชิงรุก และ 3.การดูแลต่อเนื่องถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล รายที่มีปัญหาจะส่งต่อเพื่อเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ตุลาคม2/8 ********************************* 10 ตุลาคม 2565
******************************