ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร ประชุมร่วมกับ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ 64 องค์กร เพื่อรับฟังข้อเสนอแนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข และสร้างความร่วมมือในการทำงาน พร้อมออกแถลงการณ์ความร่วมมือ มุ่งสู่เป้าหมาย “สุขภาพคนไทย เพื่อ สุขภาพประเทศไทย” 

          วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) ที่ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ประชุมร่วมกับผู้แทนสภาวิชาชีพ สมาคม/ชมรม/สหภาพ/สหพันธ์วิชาชีพด้านสุขภาพ จำนวน 64 องค์กร รวม 177 คน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น แนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข

          นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรที่ทำงานร่วมกันจำนวนมากและมีหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งมีการจัดตั้งเป็นองค์กรเฉพาะ 40 ชมรม 12 สมาคม 8 สภาวิชาชีพ และ 4 สหภาพ อาทิ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย, แพทยสภา, 
ทันตแพทยสภา, สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย, ชมรม รพ.สต. แห่งประเทศไทย, ชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งทุกวิชาชีพมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข และในสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถทำเรื่องยากให้ประสบความสำเร็จได้ ในวันนี้จึงเชิญทุกองค์กรมารับทราบแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการพัฒนางาน เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ และสร้างความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขต่อไป 

          นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกัน ได้ข้อเสนอแนวทางในการดำเนินงาน 7 ประเด็น คือ 1.การดูแลบุคลากรในระบบสุขภาพ ทั้งอัตรากำลัง การบรรจุ และภาระงาน 2.การดูแลสถานที่ทำงาน สิ่งแวดล้อม ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน 3.การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อลดภาระงานของบุคลากร 4.การดูแลด้านสวัสดิการและค่าตอบแทน 5.การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน 6.การดูแลการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง และ 7.การประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามข้อเสนอแนะการพัฒนางานต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมรายละเอียดข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล 
โดยประเด็นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้ จะเร่งทบทวนและดำเนินการโดยเร็ว ส่วนประเด็นที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ จะทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพอย่างใกล้ชิดและร่วมกันผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ 64 องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ลงนามในแถลงการณ์ แสดงเจตจำนงในการทำงานร่วมกัน โดยน้อมนำพระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย ที่ “ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เป็นปณิธานในการทำงาน และจะรวมพลังขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงทางสุขภาพยิ่งขึ้น ตามแนวนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้น ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น ลดอัตราตายโรคที่สำคัญ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง พัฒนาข้อมูลสุขภาพเพื่อประชาชน และนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สู่เป้าหมาย “สุขภาพคนไทย เพื่อ สุขภาพประเทศไทย”


********************************* 6 ตุลาคม 2565



   
   


View 1746    06/10/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ