รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2565 ชูพัฒนาระบบสุขภาพยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี 5 นักการสาธารณสุขดีเด่นผู้ได้รับรางวัล “ชัยนาทนเรนทร”

           วันนี้ (15 กันยายน 2565) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 “การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด 19” พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2564 จำนวน 5 คน

           นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด 19 มาเกือบ 3 ปี ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ แต่จากการบริหารจัดการแบบบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค จากทุกภาคส่วน และการมารับวัคซีนของประชาชน ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง จึงทำให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถเปิดประเทศ ดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติมากขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โรคโควิด 19 จะถูกปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การถอดบทเรียนจากโรคโควิด 19 จึงมีความสำคัญในการช่วยเตรียมการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต

      นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับนักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่ปฏิบัติงานหรือสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเชิดชูเกียรติผู้ที่อุทิศตนในการพัฒนางานด้านสาธารณสุขที่มีผลงานโดดเด่นในระดับชาติ แบ่งเป็น 5 ประเภท ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 27 พฤศจิกายนของทุกปี โดยปี 2564 มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ 1.ประเภทบริหาร คือ ดร.นพ.อุทัย สุดสุข ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุขเป็นผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขคนแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก (WHO Executive Board) นำเทคนิคการวางแผนโครงการพัฒนาการสาธารณสุขระดับจังหวัด “Project Systems Analysis” (PSA) มาใช้ร่วมกับเทคนิคการวางแผนพัฒนาการสาธารณสุขระดับชาติขององค์การอนามัยโลก “Country Health Programming” (CHP) ในการจัดทำแผนฯ ระดับชาติเป็นครั้งแรก และยังได้รับเหรียญรางวัลผู้นำสุขภาพดีถ้วนหน้าดีเด่นขององค์การอนามัยโลก จากผลงานการพัฒนาโครงการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) รวมถึงยังร่วมก่อตั้งและพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) รวมถึงมูลนิธิอุทัย สุดสุข เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

          2.ประเภทบริการ คือ นพ.สมจิตต์ ชี้เจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ใช้ความรู้ความสามารถด้านจักษุวิทยาพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยด้านจักษุมากกว่า 10 ปี จนมีความมั่นคง และร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) นำมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล HA ไปใช้กับโรงพยาบาลทุกระดับและทุกสังกัดทั่วประเทศ     

           3.ประเภทวิชาการ คือ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ พัฒนาทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (MERT) เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนทีมแพทย์ที่จะลงไปช่วยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติรุนแรง โดยร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมทีมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ ตั้งแต่ปี 2552 และขยายผลครบทุกจังหวัด ทำให้มีทีม MERT ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในประเทศ เช่น มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 และในต่างประเทศ เช่น เหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลปี 2558 เป็นต้น โดยพัฒนาศักยภาพทีม MERT จนได้รับการรับรองตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เป็นทีม Thailand EMT และยังพัฒนาทีม Mini MERT หรือทีมฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วในระดับอำเภอ ประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่และช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น จนครบทุกอำเภอ

            4.ประเภทผู้นำชุมชน คือ นายสมร สอนจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขาใหญ่ หมู่ 1 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นผู้นำชุมชนในการจัดการสภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมและจิตอาสานำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาใช้พัฒนางานดูแลประชาชนในทุกด้าน ส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ให้มีสุขภาวะ เป็นต้นแบบพื้นที่เรื่องการจัดการขยะเปียก ขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ให้ชุมชนสะอาด เป็นระเบียบ ช่วยลดการเจ็บป่วยโรคไข้เลือดออก แก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน

           และ 5.ประเภทประชาชน คือ นายนฤชิต แสงเทียนท์ อสม.เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นปราชญ์ชาวบ้านผู้นำภูมิปัญญาพื้นบ้านและศาสตร์การแพทย์แผนไทยดูแลส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ความรู้แก่แกนนำนักเรียนด้านการออกกำลังกายโดยใช้ท่าฤาษีดัดตน ดูแลสุขภาพด้วยพืชผักสมุนไพร การนำผลไม้พื้นบ้านมาปรุงเป็นอาหารไทย และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ยาหม่อง ยาสีฟัน ลูกประคบ และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ตุ้มทรายคลายเมื่อย ธาราบำบัด เป็นต้น

           ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผู้ส่งผลงานนำเสนอจำนวน 2,576 เรื่อง ใน 10 สาขา คือ การแพทย์, การพยาบาล, วิทยาศาสตร์ LAB, ทันตสาธารณสุข, อาหาร ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค, การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,สมุนไพร กัญชา กัญชง, การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม, โควิด 19, ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และบริหารสาธารณสุข นโยบายสาธารณสุขทั่วไป เศรษฐกิจสุขภาพ โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ

       ทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำเสนอในการประชุมวิชาการ จำนวน 816 เรื่อง ได้แก่ ผลงานวิจัยนำเสนอด้วยวาจา 410 เรื่อง ผลงานวิจัยนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 284 เรื่อง และนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 112 เรื่อง  และจะคัดเลือกผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2565 ต่อไป

 ****************************************** 15 กันยายน 2565



   
   


View 1759    15/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ