รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่จากกองการประกอบโรคศิลปะ และสปสช. ลงตรวจสอบคลินิกในโครงการ 30 บาท ย่านดอนเมือง หลังรักษาเด็กวัย 1 ปี 8 เดือน จนอาการหนักแต่ไม่ยอมส่งตัวรักษาต่อ ทำให้เสียชีวิต เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หากพบไม่ได้มาตรฐานหรือมีความบกพร่อง จะนำเข้าคณะกรรมการบริหารสปสช.พิจารณาต่อไป ยันผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออาการหนัก สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลก่อน โดยไม่ต้องรอใบส่งตัว
จากที่มีข่าวครอบครัวอินาวัง อุ้มศพเด็กชายทวินันท์ อินาวัง หรือน้องโฟร์โมสต์ บุตรวัย 1 ปี 8 เดือน ประท้วงคลินิกย่านดอนเมืองและแจ้งความเอาผิด โดยเชื่อว่าแพทย์วินิจฉัยโรคผิด และไม่ยอมส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ เป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยในเช้าวันที่ 18 สิงหาคม 2551 เด็กตัวร้อน ไอ หายใจขัด จึงใช้สิทธิบัตรทองไปรักษาที่คลินิก ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเบื้องต้นในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แพทย์ผู้ตรวจแจ้งว่าเด็กเป็นไข้หวัดและให้ยาไปกิน แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงพากลับไปพบแพทย์อีกครั้ง เพื่อขอให้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ แต่ได้รับการปฏิเสธจากแพทย์ถึง 2 ครั้ง ต่อมาประมาณ 22.00 น. เด็กหายใจไม่ออก ดิ้นทุรนทุราย จึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ เอง แพทย์รับตัวไว้รักษาที่ไอซียู วินิจฉัยเบื้องต้นว่าปอดบวมและติดเชื้อ และเสียชีวิตประมาณ 02.00 น. วันที่ 19 สิงหาคม 2551
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวเช้าวันนี้ (20 สิงหาคม 2551) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. และนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสาขาเขตพื้นที่กทม. เดินทางไปที่คลินิกดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย
นายชวรัตน์ กล่าวว่า คลินิกแห่งนี้เป็นสถานพยาบาลลูกข่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลรักษาประชาชนในเบื้องต้น หากอาการรุนแรงหรือเกินขีดความสามารถ จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลแม่ข่ายคือโรงพยาบาลภูมิพลฯ จากผลดำเนินงานเดือนมีนาคม 2551 มีคลินิกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 252 แห่ง สังกัดภาคเอกชน 156 แห่ง ภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 81 แห่ง ที่เหลือ 15 แห่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยอยู่ในกทม. 115 แห่ง ในการตรวจสอบจะดูใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อเท็จจริงในการรักษาพยาบาลผู้เสียชีวิต 2.มาตรฐานคลินิกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการขออนุญาต ความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการ 3.มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมประจำคลินิก และ 4.จะประสานโรงพยาบาลภูมิพลฯ ให้สรุปประวัติการรักษาของเด็กที่เสียชีวิต หากพบว่ามีความบกพร่อง จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมบริหารสปสช.พิจารณาต่อไป เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งได้กำชับให้สปสช.ตรวจสอบมาตรฐานคลินิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลินิกที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ จะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ขอยืนยันให้ประชาชนทั่วประเทศที่ใช้สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือมีอาการหนัก สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องใบส่งตัว สำหรับการช่วยเหลือผู้เสียหายรายนี้ จะให้ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารสปสช.โดยเร็ว เพื่อพิจารณาค่าเยียวยา ซึ่งมีวงเงินสูงสุด 200,000 บาท
ด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า คลินิกแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล เลขที่ 10101017843 ออกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 มีแพทย์ให้บริการประจำ 4 คน ในเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปชี้ขาดได้ ต้องดูข้อมูลรายละเอียดอื่นประกอบด้วย หากพบเกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ผู้รักษา ก็จะประสานส่งเรื่องให้แพทยสภาตรวจสอบต่อไป
**************************************** 20 สิงหาคม 2551
View 13
20/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ