กระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมใน 4 จังหวัดแนวแม่น้ำโขง ในรอบ 7 วัน พบผู้ป่วยกว่า 8,000 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 54 ราย เสียชีวิต 5 ราย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง จากการประเมินผลการดูแลสุขภาพประชาชนระหว่างน้ำท่วม พบว่าสามารถป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้อย่างดี โดยเฉพาะโรคปอดบวม จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาลไม่เพิ่มขึ้น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมจากแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง ที่จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ว่า ขณะนี้ระดับน้ำบางพื้นที่เริ่มลดลง กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจตามมาภายหลัง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านในการล้างทำความสะอาดบ่อน้ำตื้น ใส่คลอรีน สารส้ม ฆ่าเชื้อและปรับสภาพน้ำดื่มนำใช้ให้สะอาดปลอดภัย และกำจัดขยะมูลฝอยที่มากับน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งรังโรคต่างๆ นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการออกหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชนระหว่างน้ำท่วม พบว่าเป็นที่พอใจมาก สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ เนื่องจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สามารถให้การดูแลทั่วถึงและทันท่วงที โดยเฉพาะโรคปอดบวมที่มักพบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ฝนตกชุก ผู้ป่วยมักเป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยทั้ง 4 จังหวัด ทั้งนี้ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในจังหวัดเชียงราย นครพนม หนองคาย และมุกดาหาร ในรอบ 7 วันมานี้ พบผู้ป่วย 8,523 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 54 ราย เสียชีวิต 5 ราย สาเหตุจากการจมน้ำทั้งหมด แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง ได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคที่ตามมาหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคตาแดง อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วย **************************************** 19 สิงหาคม 2551


   
   


View 17    19/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ