กระทรวงสาธารณสุข เผยมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งปีละกว่า 3,000 ราย เฉลี่ยวันละ 8 ราย ป่วยเพิ่มปีละ 6,000 ราย จัดโครงการป้องกันในปีนี้ ให้สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ เปิดให้บริการตรวจหามะเร็งปากมดลูกหญิงไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป 2 วิธีง่ายๆ ฟรี 116 วันตั้งแต่วันแม่ถึงวันพ่อ ตั้งเป้า 1 ล้านราย เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ 22 สิงหาคมนี้
เช้าวันนี้ (15 สิงหาคม 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าว การเปิดบริการตรวจหามะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ 116 วัน ฟรี เริ่มตั้งแต่วันแม่ถึงวันพ่อ ว่า ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกสาเหตุที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งปีละกว่า 3,000 ราย เฉลี่ยวันละ 8 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6,000 8,000 ราย พบมากในช่วงอายุ 35-50 ปี มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และรักษาได้หายขาด ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เซลล์เยื่อบุปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ หากสามารถตรวจหามะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของสตรีไทยที่ตั้งเป้าหมายไว้ คาดว่าจะลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี
นายชวรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการตรวจหามะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปไม่ว่าสิทธิใดๆฟรี เริ่มตั้งแต่วันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน โดยเปิดให้บริการในสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ตั้งเป้าให้ได้จำนวน 1 ล้านราย โดยสามารถตรวจได้ 2 วิธี ได้แก่ วิธีแป๊บสเมียร์ (Pap smear) คือการป้ายเซลล์เยื่อบุบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และวิธี วีไอเอ (VIA) ตรวจด้วยกรดน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 3-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งง่ายทั้ง 2 วิธี ใช้เวลาตรวจไม่ถึงรายละ 5 นาที โดยการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่สามารถดำเนินการได้เฉพาะสูตินรีแพทย์ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้เป็น 1 ในโรคที่เกิดจากวิถีชีวิต โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องคือ การติดเชื้อไวรัสหงอนไก่ที่มีชื่อว่า เอชพีวี หรือฮิวแมน แป็บปิลโลม่าไวรัส (HPV: Human Papilloma Virus) ไวรัสตัวนี้จะทำให้เยื่อบุปากมดลูกเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาก่อตัวประมาณ 10 ปี จึงกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งจะพบมากที่สุดในผู้หญิงอายุ 35-50 ปี และร้อยละ 60 พบอยู่ในระยะลุกลามไปที่อื่นแล้ว รักษาได้ผลน้อย ในการป้องกันมะเร็งชนิดนี้จึงต้องเริ่มตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ คืออายุ 35,40,45,50,55,60 ปี
จากการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนป้องกัน พบว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์และ วีไอเอ ทุก 5 ปี โดยเริ่มต้นที่อายุ 35 ปี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า นอกจากจะยืดอายุขัยเฉลี่ยของหญิงไทยแล้ว ยังมีต้นทุนถูกกว่าต้นทุนที่ใช้ในการรักษาโรคในกรณีที่ไม่มีการคัดกรอง แต่ที่ผ่านมาพบว่าสามารถดำเนินการตรวจคัดกรองได้น้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากหญิงไทยยังติดเรื่องอายหมอ ไม่กล้าไปตรวจ
นายแพทย์เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บเสมียร์ โดยให้สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ตรวจคัดกรองฟรี โดยจะส่งไปตรวจหาเซลล์มะเร็งทางห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลตรวจกลับภายใน 15 วัน ในปี 2549 มีผู้มาตรวจจำนวน 724,346 ราย ปี 2550 ตรวจจำนวน 788,161 ราย ในปี 2551 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 30 มิถุนายน 2551 ตรวจจำนวน 800,000 คน ในจำนวนนี้พบเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นจำนวน 1,656 ราย ได้ส่งตัวเข้ารับทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในจังหวัด รักษาจนหายขาด เนื่องจากเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงวิธีการตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยวิธีวีไอเอว่า เป็นวิธีการที่รวดเร็ว โดยใช้น้ำส้มสายชูชนิดเจือจางป้ายที่บริเวณปากมดลูก ทิ้งไว้ 1 นาที หากเนื้อเยื่อที่ปากมดลูกมีความผิดปกติ ก็จะมองเห็นเป็นฝ้าขาว เป็นวงชัดเจน และตำแหน่งแน่นอน ซึ่งรอยฝ้าที่เห็นยังไม่เป็นมะเร็ง แต่หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้ วิธีนี้เหมาะสมในผู้หญิงอายุ 30-45 ปี และหลังจากที่พบรอยฝ้าแล้วก็จะให้การรักษาเบ็ดเสร็จด้วยวิธีการจี้เย็น (Cryotherapy) โดยใช้แก๊ซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จี้บริเวณรอยฝ้า ความเย็นจะทำให้เยื่อที่ผิดปกติหลุดลอกไป ใช้เวลาประมาณ 13 นาทีต่อคน และนัดมาตรวจแผลที่ปากมดลูกอีก 3 เดือน และตรวจวีไอเอซ้ำทุก 1 ปี หากพบอีกก็จะส่งพบแพทย์ เพื่อตรวจค้นหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่น แนะนำการรักษาที่ดีที่สุด ขณะนี้ผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 30-45 ปีได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ประมาณ 300,000 คน ในจำนวนนี้พบว่าผิดปกติได้รับการรักษาด้วยวิธีจี้เย็นประมาณร้อยละ 5-8 โดยมีพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมจำนวน 629 คน
***************************************** 15 สิงหาคม 2551
View 12
15/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ