กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์โควิดพบ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราครองเตียงสูงใน 4 จังหวัด แต่อัตราเสียชีวิตลดลงจากการฉีดวัคซีนกว่า 140 ล้านโดส พบช่วยเซฟชีวิตคนไทยไม่ให้ตายจากโควิดมากถึง 4.9 แสนคน ลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและลดค่าใช้จ่ายการรักษาอาการหนัก ย้ำภูมิคุ้มกันลดลงตามเวลา ต้องฉีดกระตุ้น เผยแอนติบอดี LAAB เข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้า เตรียมอบรมการใช้ทั่วประเทศในสัปดาห์นี้

              วันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 และแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า การพิจารณาสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย มีการใช้ข้อมูลทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ Home Isolation ซึ่งขณะนี้พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ โดยช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามีการเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก จึงต้องติดตามว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

               นพ.โอภาสกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ รวมกันถึง 98% โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตโควิดต่อแสนประชากรสูงสุดช่วงระลอกเดลตา และลดน้อยลงในช่วงโอมิครอนบ่งบอกว่า มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จึงลดอัตราเสียชีวิตได้ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ มี 4 จังหวัดที่เริ่มตึงตัว คือ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้น และมีการคืนเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่สามารถขยายเตียงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการเตรียมความพร้อมในจังหวัดต่างๆ ให้รองรับแล้ว และได้เชิญ กทม.หารือการจัดระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ เนื่องจาก
มีโรงพยาบาลหลายสังกัดในพื้นที่

               สำหรับหลังช่วงหยุดยาวย้ำว่า ยังต้องเข้มมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายหวัด ซึ่งโอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ เจ็บคอ ระคายคอ น้ำมูก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดอย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจ ATK และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้คนไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนหน่วยงานต่างๆ หากพบผู้ติดเชื้อ ถ้ามีอาการน้อย สามารถแยกกักรักษาที่บ้านแบบ 7+3 คือ แยกกักตัว 7 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการอีก 3 วัน ซึ่งควรงดเว้นการพบผู้อื่นและสวมหน้ากากตลอดเวลา

               นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่ดี กระทรวงสาธารณสุขจัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี LAAB มาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยจะเข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้าประมาณ 7 พันชุด โดย 1 ชุดมียา 2 ตัว ใช้ฉีดเข้าสะโพกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการสรุปข้อมูลเข้ามาว่า แต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยมากน้อยเท่าไร เพื่อกระจายได้ตามที่ขึ้นทะเบียนร้องขอมา โดยจะจัดส่งไปยังระดับจังหวัดพิจารณาจัดสรรต่อไป และจะมีการอบรมทำความเข้าใจการใช้ LAAB ทั่วประเทศ ซึ่งการใช้ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้น

              ด้าน รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า มีงานวิจัยตีพิมพ์ของสถาบัน The MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ทำแบบจำลองประเมินการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วโลกใน 185 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2563 - 8 ธ.ค. 2564 หรือช่วงเวลา 1 ปี พบว่า วัคซีนโควิดช่วยรักษาชีวิตคนทั่วโลกได้ประมาณ 20 ล้านคน ส่วนเฉพาะในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 8 ธ.ค. 2564 พบว่าช่วยรักษาชีวิตคนไทย 382,600 คน แต่การระบาดไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ยังพบสายพันธุ์โอมิครอนอีก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำแบบจำลองนี้มาศึกษาต่อตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา พบว่าวัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยอีกประมาณ 107,400 คน ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 - 3 ก.ค. 2565 วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสียชีวิตประมาณ 490,000 คน และลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจำนวนมาก

                 รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า เมื่อฉีดวัคซีนโควิดพบว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของผู้ติดโควิดเริ่มลดลงเรื่อยๆ  และเริ่มลดลงอีกเมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น จนทั่วโลกอัตราการเสียชีวิตของโควิดน่าจะต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา เป็นธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน คล้ายผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ประกอบกับสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงเร็วมาก คนที่ติดสายพันธุ์ก่อนหน้ายังติดโอมิครอนซ้ำได้อีก จึงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 4 เดือน โดยประสิทธิผลมีความคุ้มค่ามาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และกลุ่ม 608 ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง

 **********************************18 กรกฎาคม 2565

**********************************



   
   


View 4680    18/07/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ