กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 53 จำนวน 40.7 ตัน จาก 185 คดี มูลค่ารวมกว่า 34,688 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน โดยใช้เตาเผาอุณหภูมิสูง มีระบบควบคุมมลพิษที่เหลือจากการเผา ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

           วันนี้ (5 กรกฎาคม 2565) ที่ ศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 53 ประจำปี 2565 โดยมี ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

          โดยในปีนี้ยาเสพติดให้โทษของกลางจากคลังเก็บรักษายาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ทำการเผาทำลายมีจำนวน 40,706.715381 กิโลกรัมจาก 185 คดี มูลค่ากว่า 34,688 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) น้ำหนักกว่า 23,365 กิโลกรัม เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 14,482 กิโลกรัม เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 738 กิโลกรัม MDMA/MDA/MDE (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักประมาณ 4.66 กิโลกรัม ฝิ่นน้ำหนักกว่า 29 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีวัตถุออกฤทธิ์อื่นๆ อาทิ เคตามีน ไนเมตาซีแพม น้ำหนักรวมกว่า 2,086 กิโลกรัม

            ของกลางทั้งหมดจะถูกเผาทำลายด้วยเตาเผาขยะอันตราย (Hazardous waste Incinerator) ซึ่งเป็นระบบเตาเผาอุณหภูมิสูง ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NG) มีระบบควบคุมสารมลพิษที่เหลือจากการเผาทำลายและการตรวจสอบควบคุมสารมลพิษ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เตาเผาชุดที่ 1 แบบหมุน (Rotary Kiln Rotary Kiln) ควบคุมอุณหภูมิมากกว่า 850 องศาเซลเซียส เตาเผาชุดที่ 2 เตาเผาซ้ำแบบทรงกลมตั้ง ควบคุมอุณหภูมิมากกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อให้มั่นใจว่าสารประกอบอินทรีย์อันตรายที่เกิดขึ้นถูกทำลายไปมากกว่า 99.99% โดยรอบนี้ได้กำหนดเผาทำลาย 2 วัน คือวันที่ วันที่ 5-6 กรกฎาคม 2565

          นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ ในปีงบประมาณ 2565 ได้นำผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1,209 แห่งทั่วประเทศ รวม 74,671 คน แบ่งเป็น ระบบสมัครใจบำบัด 42,812 คน บังคับบำบัด 20,425 คน ต้องโทษ 10,149 คน และศาลส่งบำบัด 1,285 คน ทั้งนี้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศพร้อมให้คำปรึกษาและนำเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาที่ได้มาตรฐานสากล โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเลิกยาเสพติดได้ที่ สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง

 ************************************** 5 กรกฎาคม 2565

 **************************************

 



   
   


View 963    05/07/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ