รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายพัฒนาศักยภาพ อสม.กว่า 8 แสนคน ให้มีความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ขยายผลการใช้ในหมู่บ้าน ชุมชนทั่วประเทศ เป็นที่พึ่งสุขภาพใกล้ตัว ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน วันนี้ (7 กรกฎาคม 2551) ที่เวียนนา รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคณะผู้บริหารระดับสูง และนายสำเริง แหยงกระโทก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เปิดอบรมพัฒนาความรู้แก่ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและชุมชน (อสม.) จากอำเภอครบุรี และอำเภอเทพารักษ์ จำนวน 212 คน เพื่อพัฒนาความรู้ให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในระดับผู้เชี่ยวชาญหรือ อสมช. ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 41 ล้านบาท เพื่อให้ อสม.นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพประชาชนตามสภาพปัญหาในพื้นที่ นายวิชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในเขตเมืองและชนบท ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และพิการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกว่า 7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังประจำตัว จะต้องเร่งจัดระบบบริการดูแลสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค โดยมีนโยบายจะให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อบรม อสม. เพิ่มความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น การนวด การประคบ รวมทั้งสมุนไพรไทย เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาใช้ในภาคบริการสุขภาพในชุมชนและหมู่บ้าน เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพโดยเฉพาะบางโรคที่รักษาไม่หายขาด เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งอาการปวดเมื่อยต่างๆ ของผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถใช้การแพทย์แผนไทย เช่น การนวด การประคบมาช่วยบำบัดฟื้นฟูต่อ และได้ผลดี มั่นใจว่าหาก อสม.ที่มี 8 แสนกว่าคน มีความรู้ด้านนี้เพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมากยิ่งขึ้น ต้องขอชื่นชมผู้บริหารจังหวัดนครราชสีมาที่ริเริ่มทำโครงการเป็นตัวอย่างที่ดี ด้านนายแพทย์วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เริ่มนำร่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2551 โดยอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลการประสานงานกับ อสม.ใน 32 อำเภอ ให้มีความพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. และการอบรมให้ความรู้แก่ประธาน อสม. หมู่บ้านและชุมชน จำนวน 4,042 คน ให้นำไปสอนอสม.ในหมู่บ้านและชุมชนของตน และจัดกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุขที่ยังเป็นปัญหาของชุมชน เดือนละอย่างน้อย 5 กิจกรรม เช่น การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การเฝ้าระวังโรคติดต่อ โรคเอดส์ งานคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างสุขภาพ งานสุขภาพจิต การเฝ้าระวังยาเสพติด การแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้บริการในศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) จัดงบประมาณสนับสนุนให้หมู่บ้านหรือชุมชนละ 3,000 บาทต่อเดือน โดยจะประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ เพื่อนำมาปรับปรุงและขยายผลดำเนินการในปี 2552 ต่อไป *********************************** 7 กรกฎาคม 2551


   
   


View 12    07/07/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ