รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยม “หัวเว่ย” ติดตามการพัฒนา 5G Healthcare ร่วมกับกรมการแพทย์ ชี้ อนาคต 5G จะมีบทบาทเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งการดูแลรักษาแบบเรียลไทม์และแม่นยำ การส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ โดยมี นายเคน หู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ ที่อาคาร G Tower ถนนพระราม 9 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

          นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้ลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ในการพัฒนาระบบ 5G Healthcare เพื่อนำมาใช้ในกิจการทางการแพทย์ ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้าทั้งด้านระบบบริการ งานวิชาการต่าง ๆ พบว่าหัวเว่ยและกรมการแพทย์มีความพร้อมในด้านนี้สูงมาก ทั้งการนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์ภาพเอกซ์เรย์ หรือซีทีสแกนทรวงอก เพื่อบอกความผิดปกติ ทั้งโรคโควิด 19 และโรคทรวงอกอื่นๆ การทำรถพยาบาล 5G ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตได้รวดเร็วขึ้น การบังคับหุ่นยนต์ส่งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย และการดูแลรักษาผ่านระบบเทเลเมดิซีน เป็นต้น

          “การดูแลรักษาทางไกล หรือการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมาก ต้องอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีความรวดเร็ว เช่น การผ่าตัดทางไกล จะมีความเป็นเรียลไทม์มากขึ้น แม่นยำมากขึ้น หรือเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดอาการผิดปกติ จะช่วยแจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด หรือแพทย์ประจำตัว ทำให้สามารถช่วยเหลือได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากขึ้น เป็นต้น” นายอนุทินกล่าว

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทในงานด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัก คือ อุตสาหกรรมการผลิต การเงิน และสุขภาพ รวมถึงเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในลักษณะของ Internet of Thing โดยเรื่องสุขภาพ นอกจากการรักษาพยาบาลให้มีการทำงานได้อย่างไร้รอยต่อแล้ว ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย เช่น อุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยตรวจสุขภาพเบื้องต้น การออกกำลังกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมการแพทย์และหัวเว่ยจะร่วมมือพัฒนางาน 5G Healthcare อย่างต่อเนื่อง

          “ขอบคุณหัวเว่ย ประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G สนับสนุนและช่วยเหลือประเทศไทย ซึ่งจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงทางด้านการแพทย์ โดยจะมีการเสริมสร้างความร่วมมือกับ หัวเว่ย ในด้านสำคัญอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และการคมนาคม เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทย” นายอนุทินกล่าว

          ด้านนายเคน หู กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รัฐบาลไทยมีนโยบายและมาตรการควบคุมโรคและเพื่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยนำโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่แข็งแกร่งมาใช้ จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ หัวเว่ยได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยและโรงพยาบาลหลายแห่งเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด เช่น 5G จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และเป็นศูนย์สุขภาพระดับสากล หัวเว่ยพร้อมจะเป็นพันธมิตรในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทย วิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่แพร่หลาย ความฉลาดรอบด้าน และประสบการณ์อัจฉริยะในทุกสถานการณ์

 ******************************** 28 ตุลาคม 2564

*********************************



   
   


View 1939    28/10/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ