สธ.มหาสารคาม รับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคฯ” เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 2.8 หมื่นคน พร้อมเสริมแกร่ง อสม. ช่วยลดความเสี่ยง NCDs
- สำนักสารนิเทศ
- 234 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 58 ล้านโดส คาดเดือนตุลาคมฉีดครอบคลุมร้อยละ 60 ตามเป้าหมาย ส่งวัคซีนเพิ่มระดมฉีดพื้นที่เสี่ยง 4 จังหวัดชายแดนใต้ภายในสัปดาห์หน้า ยืนยันวัคซีนไฟเซอร์ทยอยเข้าล็อตละ 1.5 – 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับนักเรียนที่ต้องการฉีด 4 วันที่ผ่านมาฉีดแล้ว 1.5 แสนโดส ยังไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง
บ่ายวันนี้ (8 ตุลาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ว่า วานนี้ (7 ตุลาคม 2564) ฉีดวัคซีนได้ 911,677 โดส รวมฉีดสะสม 58,298,770 โดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้ามากที่สุด 26 ล้านโดส ซิโนแวค 20 กว่าล้านโดส ซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.7 ล้านโดส คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะฉีดได้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 60 % ตามเป้าหมาย
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่ซื้อ 30 ล้านโดส จะทยอยส่งครั้งละ 1.5 – 2 ล้านโดส ล็อตแรกถึงเมื่อ 29 กันยายนได้นำไปฉีดให้นักเรียนแล้ว ล็อต 2 ถึงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 1.5 ล้านโดส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยแล้ว อยู่ระหว่างจัดส่งให้รพ.ทุกอำเภอ และสัปดาห์หน้าจะมาอีก 1.5 ล้านโดส ยืนยันมีเพียงพอสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าที่ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์ไว้ประมาณ 4 ล้านคน โดยโรงพยาบาลจะประสานกับโรงเรียนเพื่อนัดหมายการฉีดต่อไป ไม่ได้เป็นตามข่าวว่ามีวัคซีนไม่พอต้องจับฉลาก เพียงแต่ในช่วงแรกส่งไปประมาณ 40 % ของนักเรียน และจะทยอยส่งให้จนครบ พร้อมเตรียมไว้สำหรับฉีดเข็ม 2 ในอีก 3 สัปดาห์แล้ว
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 47.5% ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด 29 จังหวัด ครอบคลุม 62% สูงสุดที่กทม. ปทุมธานี เป็นการฉีดสูตรหลักซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งช่วยให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและเร็ว รับมือกับสายพันธุ์เดลตา ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ ครอบคลุมประมาณ 66% สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะนี้ฉีดครอบคลุม 30-40 % ได้ส่งวัคซีนให้เพิ่มเติมเพื่อระดมฉีดในพื้นที่ระบาดสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันได้เร่งเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรค แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและนำเข้าระบบรักษา กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น สงขลา 65% ยะลา 56% นราธิวาส 50% ปัตตานี 48% ขอเชิญชวนให้มารับการฉีดวัคซีนช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
สำหรับกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกแล้วมากกว่า 150,000 คน หรือประมาณร้อยละ 3 ของกลุ่มเป้าหมาย จากการติดตามอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนตั้งแต่เริ่มฉีดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เจ็บ ปวด ร้อนบริเวณที่ฉีด เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน หลังได้รับการปฐมพยาบาลอาการกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนรวมกันในโรงเรียน เด็กอาจกลัวหรือเกิดอุปทานหมู่ได้ จึงควรจัดพื้นที่ฉีดวัคซีนให้โปร่ง ไม่แออัด หรือเปิดเพลงเพื่อความผ่อนคลาย ครูหรือบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ข้อมูลอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน เช่น ใจสั่น แน่น/เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย เป็นลม หมดสติ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่ผ่านมาประเทศไทยพบ 3 รายที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน อาการไม่รุนแรงและรักษาหาย สำหรับวัคซีนที่จะฉีดให้เด็กอายุ 5 - 11 ปี ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดมายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทย เพื่อปรับข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีน มีเพียงผลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศว่าวัคซีนไฟเซอร์ใช้ได้ผลดีในกลุ่มอายุ 5-11 ปีเท่านั้น
“สถานการณ์โควิดในประเทศขณะนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่คงยังมากกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน วันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตร้อยกว่าราย ถือว่าสถานการณ์ยังคงทรงตัวและยังน่าเป็นห่วง และเนื่องจากขณะนี้มีการเร่งฉีดวัคซีนจำนวนมาก ผู้ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนเข้มงวดการป้องกันตนเองสูงสุด กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ต้องคิดว่าเรายังมีโอกาสที่จะเจอผู้ติดเชื้อได้ จึงควรระมัดระวังตนเองไม่ไปรับเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพื่อไม่ให้โควิด 19 กลับมาแพร่ระบาด ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในรูปแบบนิวนอร์มอล” นพ.โสภณกล่าว
********************************** 8 ตุลาคม 2564