สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 537 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผย "ยาโมลนูพิราเวียร์" รักษาโควิด 19 อาการเล็กน้อยถึงปานกลางได้ผลดี ช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและป้องกันการเสียชีวิต เมื่อได้รับยาภายใน 5 วัน เชิญผู้เชี่ยวชาญพิจารณาข้อมูลและแนวทางการใช้ คาดนำเข้ามาใช้ได้สิ้นปีนี้ พร้อมเตรียมศึกษาใช้เพื่อป้องกันหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ
วันนี้ (6 ตุลาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้ายาต้านไวรัสโควิด 19 "ยาโมลนูพิเวียร์" ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยแบบ MOVE-IN Trial ในผู้ป่วยอาการหนักพบว่าไม่ได้ผล แต่การศึกษาแบบ MOVE-OUT Trial ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่ไม่ได้รับวัคซีน และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่าได้ผลดี
"จากการศึกษาผู้ป่วยในระยะที่ 3 จำนวน 775 ราย แบ่งเป็นกลุ่มได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 ราย ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลาเช้าและเย็น เป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มได้ยาหลอก 377 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลลงร้อยละ 50 และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่การศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และในเด็ก" นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ต้องรอบริษัทผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ ก่อน แล้วจึงมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ประเทศไทย คาดว่าจะนำเข้ามาได้จริงในช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 โดยบริษัทคิดราคาตามลักษณะรายได้ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศรายได้สูง สำหรับการนำมาใช้ขณะนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณาข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ว่าจะนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ หรือใช้ควบคู่หรือใช้ร่วมกันเป็นสูตรคอกเทล นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MOVE-AHEAD หรือการศึกษายาโมลนูพิราเวียร์ในการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิดแล้ว เป็นลักษณะของยา PEP ที่รับประทานเพื่อป้องกันโดยจะศึกษาในประเทศไทยในโรงพยาบาล 5 แห่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลราชวิถีร่วมด้วย อยู่ระหว่างขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะทำการศึกษาได้ในเดือนธันวาคมนี้
*********************************** 6 ตุลาคม 2564