สธ.มหาสารคาม รับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคฯ” เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 2.8 หมื่นคน พร้อมเสริมแกร่ง อสม. ช่วยลดความเสี่ยง NCDs
- สำนักสารนิเทศ
- 234 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลง การผลักดันโครงการความร่วมมือยุติการระบาดโรคโควิด 19 ควบคุมป้องกันการระบาดระลอกใหม่และเชื้อโรคใหม่ ๆ ในอนาคตด้วยนวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ประชาชนสามารถอยู่กับโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย
วันนี้ (5 ตุลาคม 2564) ที่ห้องนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด 19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม” ระหว่าง นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการวางแนวทาง และมาตรการต่างๆ ให้สามารถต่อสู้กับโรคโควิด 19 ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาโดยตลอด ล่าสุดคือการขับเคลื่อน “โครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด 19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม” (Ending Pandemics through Innovation) เพื่อจัดการและยุติการระบาดของโรคโควิด 19 ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว โดยโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะต่อยอดการสร้างพลังและมาตรการที่เข้มแข็งและยั่งยืนจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด 19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม ได้รับงบประมาณดำเนินการสนับสนุนโดย กระทรวง อว. ตัวอย่างการดำเนินงานที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว อาทิ โครงการระดับชาติในการรับมือกับโรคระบาดพร้อมแนวปฏิบัติและขั้นตอนที่ชัดเจน, ระบบการพยากรณ์และคาดการณ์โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำในอนาคต, ระบบการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ทางการแพทย์, ระบบศูนย์คัดกรองข่าวปลอมและเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ตลอดจนการพัฒนาและขับเคลื่อนผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ตั้งเป้าให้ชุมชนดูแลตนเองได้ เป็นต้น
ทั้งนี้เชื่อได้ว่าความร่วมมือในโครงการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยได้ภายในปี 2565 และประเทศไทยจะพร้อมรับมือการระบาดในระลอกต่อ ๆ ไป รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
*********************************** 5 ตุลาคม 2564
******************************************