รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการผ่านระบบออนไลน์ “ทศวรรษใหม่ บริการปฐมภูมิไทย” เพิ่มพัฒนาศักยภาพบุคลากรในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์โควิด 19

         ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ ภารกิจบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปประจำปี  2564 ในหัวข้อ “ทศวรรษใหม่ บริการปฐมภูมิไทย” ผ่านระบบออนไลน์ จัดโดยโรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมกับสมาคมเวชกรรมสังคมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการพัฒนางานบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายทางวิชาการ นำไปพัฒนาสมรรถนะและระบบบริการ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์ทั่วไป พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย และบุคลากรด้านปฐมภูมิอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมจำนวน 255 คน พร้อมมอบรางวัลคนดีศรีปฐมภูมิในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ที่เป็นต้นแบบการทำงานในพื้นที่ ทั้งเขตเมืองและชนบท จำนวน 12 คน

         ดร.สาธิตกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยบูรณาการสร้างทีมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ, ทีมหมอครอบครัว, รพ.สต.ติดดาว, คลินิกหมอครอบครัว/เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งล่าสุด ได้ให้ประชาชนทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน ได้แก่ อสม. หมอประจำบ้าน, หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว ทำงานร่วมกันดูแลประชาชนแบบ “ใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ให้ความรู้ สร้างเสริมสุขภาพ เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ลดการเดินทาง และลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระบบสุขภาพปฐมภูมิได้ร่วมมือกับอสม. หน่วยงานท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ติดตามตรวจสอบคนเข้าออกในพื้นที่ จัดสถานที่พักคอย จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยที่เข้าระบบการกักตัวที่บ้านและชุมชน รวมถึงออกให้บริการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ถึงบ้าน และนอกสถานพยาบาล

         ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบปฐมภูมิให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนการพัฒนาทุกมิติโดยเฉพาะบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จึงได้จัดการประชุมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดแนวทางการให้บริการสุขภาพ เชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลกับระบบการดูแลสุขภาพบ้านและชุมชน สร้างเครือข่ายงานบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ปรับปรุงระบบบริการและยกระดับการบริหารจัดการให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาให้สอดคล้องความต้องการของประชาชนและบริบทของชุมชน

         “การพัฒนาคุณภาพวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เจ็บป่วยน้อยลง ถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาบริการปฐมภูมิ”ดร.สาธิตกล่าว

******************************** 17 กันยายน 2564

 

*************************************************



   
   


View 1200    17/09/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ