ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 211 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต ชี้หากติดเชื้อเสี่ยงอาการหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 2-3 เท่าของหญิงไม่ตั้งครรภ์ ส่วนแม่ที่ติดเชื้อสามารถให้นมลูกได้ ยกเว้นหากแม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
วันนี้ (19 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าว “การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์” ว่า ขณะนี้หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 รวมเข็ม 1 และเข็ม 2 เพียง 14,590 ราย ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณ 5 แสนคน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด 19 มีความเสี่ยงอาการหนัก ต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ 2-3 เท่าของหญิงไม่ตั้งครรภ์ และเสียชีวิต 1.5 – 8 คนในทุก 1,000 คน โดยเฉพาะหากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป อ้วน มีโรคประจำตัว และมีภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนด/ เด็กตายก่อนคลอด/ เข้าไอซียู 1.5 - 5 เท่า ติดเชื้อโควิดจากแม่ร้อยละ 3- 5 โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อมูลวิชาการรองรับว่าสามารถฉีดแบบซิโนแวคสลับแอสตร้าเซนเนก้าได้, แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ชนิด mRNA 2 เข็ม โดยอาจเกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับคนทั่วไป และควรฉีดห่างจากวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
นายแพทย์เอกชัยกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนทำให้มีบุตรยาก หากฉีดวัคซีนไปแล้วพบว่าตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้เลื่อนไปฉีดเข็ม 2 หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และขอให้หญิงตั้งครรภ์ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ประเมินความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชันไทยเซฟไทย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม, ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป, มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ควรเน้นการทำงานที่บ้าน กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ ควรตรวจหาเชื้อด้วย ATK หรือไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หากติดเชื้อและไม่มีอาการให้แยกรักษาที่บ้านได้ หากเหนื่อยหอบ มีไข้สูงให้ไปโรงพยาบาลทันที กรณีแม่ติดเชื้อหลังคลอด หากลูกไม่ติดเชื้อ สามารถกอดและอุ้มลูก ให้ลูกดูดนมแม่ได้ โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังอุ้มลูก แต่งดหอมแก้ม หรืออาจใช้วิธีปั๊มนมให้คนเลี้ยงป้อนแทน จะงดให้นมแม่เฉพาะกรณีที่แม่กินยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น เนื่องจากยาจะออกมาทางน้ำนมได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 18 สิงหาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 2,327 ราย เฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน เสียชีวิต 53 ราย ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย จังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุดคือ กทม. รองลงมา คือสมุทรสาคร ปทุมธานี ยะลา สงขลา ตามลำดับ สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 35 ปี อ้วนเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ธาลัสซีเมีย และมีประวัติฉีดวัคซีนแล้วเพียง 2 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว ที่ทำงาน ไปสถานที่แออัด
********************************** 19 สิงหาคม 2564