ยูเอ็นเอดส์ เผยหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยาต้านไวรัสเพียงร้อยละ 33 เร่งทุกประเทศจัดบริการยาต้านไวรัสเอดส์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปี 2553 ส่วนไทยได้รับการยกย่องจากยูเอ็นเอดส์ ยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก ว่าเป็น 1 ในโลก ที่ประสบผลสำเร็จ อัตราหญิงตั้งครรภ์ได้รับยาต้านไวรัสครอบคลุมกว่าร้อยละ 85 ลดจำนวนเด็กแรกเกิดติดเชื้อเอชไอวีจากแม่เหลือไม่ถึง 200 รายในปี 2550
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมผู้นำประเทศเรื่องการควบคุมป้องกันโรคเอดส์ระดับโลก ซึ่งโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 มิถุนายน 2551 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากยูเอ็นเอดส์ ให้นำเสนอผลงานควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นผลงานเด่นที่ไทยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง ร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ แซมเบีย และยูเครน โดยขณะนี้แนวโน้มปัญหาเอดส์ทั่วโลกจะพบในกลุ่มผู้หญิงและวัยรุ่นมากขึ้น โดยในปี 2550 หญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกได้รับการเจาะเลือดตรวจหาเอชไอวีเพียงร้อยละ 18 และในกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีเพียงร้อยละ 33 หรือ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับยาต้านไวรัสป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนั้นในเวทีประชุมครั้งนี้ ได้เร่งรัดให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดบริการให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงบริการนี้ให้ครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2553
แพทย์หญิงศิริพร กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้รับความชื่นชมจากยูเอ็นเอดส์ ยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก ว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและมีการศึกษาวิจัยดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ซึ่งขณะนั้นมีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.29 และมีเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ปีละกว่า 1,200 ราย หรือร้อยละ 30 ของเด็กที่คลอดทั้งหมด จึงได้ทำโครงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี นำร่องที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีบริการให้คำปรึกษาหญิงตั้งครรภ์พร้อมสามี ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี ให้ยาต้านไวรัสหญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด และให้เด็กกินนมผสมแทนนมแม่ ได้ผลสำเร็จอย่างดี และประกาศเป็นนโยบายระดับชาติเมื่อปี 2545
ล่าสุดในปี 2550 ไทยมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ 9,400 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 85 อัตราการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.6 โดยมีเด็กได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มจาก 3,900 รายในปี 2548 เป็น 6,700 รายในปี 2550 หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 70 และผลการสำรวจอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ล่าสุดในปี 2550 มีไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อเอชไอวีจากแม่เหลือปีละไม่ถึง 200 ราย ซึ่งประเทศไทยได้ให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งครอบครัว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้เร่งป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยให้คลินิกฝากครรภ์ทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มบริการให้ความรู้และทักษะแก่หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีประมาณปีละ 800,000 คน ที่มาฝากครรภ์พร้อมกับสามี เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง และขยายการให้ความรู้ ในการดูแลสุขภาพทางเพศของกลุ่มวัยรุ่น ให้มีความเข้าใจถูกต้องมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ
View 11
14/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ