รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันการประกาศทำซีแอลต่อจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมฯ โดยจะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านการรักษาโรคศึกษาข้อมูล พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อความรอบคอบก่อนตัดสินใจ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 102/2551 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เพื่อพัฒนางานด้านการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนของประเทศไทย อันนำมาซึ่งการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว มีทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PreMA) 2 คน ผู้แทนผู้ป่วย 2 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดกลไกที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรมอย่างยั่งยืน ยึดหลักความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับบริการด้านยาอย่างทั่วถึงไม่ล่าช้า ร่วมทั้งสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยในการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ด้วยนั้น นายไชยา กล่าวต่อว่า จะเชิญคณะกรรมการร่วมฯ ประชุมในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โดยในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งให้ นายแพทย์ไพจิตร วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ เนื่องจาก รับผิดชอบดูแลเรื่องการทำซีแอลมาตั้งแต่ต้น ยืนยันว่า หากมีความจำเป็นจะต้องทำซีแอลยาตัวใหม่ในการรักษาโรคอื่นๆ อีก ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็น กับจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเข้าถึงยารักษาที่จะใช้รักษาอาการเจ็บป่วย โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคนั้นๆ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้คณะกรรมการร่วมฯ ชุดใหญ่พิจารณา ฉะนั้นกระแสข่าวที่บอกว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะดับฝันผู้ป่วยหยุดซีแอลยาตัวใหม่จึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ในอนาคตหากมีความจำเป็นก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การมีคณะกรรมการร่วมฯ จากทุกกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง นับเป็นผลดีแก่ทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแค่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย ในการศึกษาวิจัยและพัฒนายารักษาโรคตัวใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศและผู้ป่วย เนื่องจากไทยมีความพร้อมทั้งในด้านสมุนไพรต่างๆ ที่มีคุณภาพหลายตัว แต่ยังขาดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ที่จะแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยกระจายอยู่ตามหน่วยงานจำนวนมาก หากทำสำเร็จไทยจะสามารถลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ ********************************* 9 มิถุนายน 2551


   
   


View 8    09/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ