โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังสัตว์มีพิษช่วงฤดูฝน ฝนชุก โดยเฉพาะงูพิษชนิดต่างๆ ซึ่งมีพิษต่อระบบประสาท ระบบเลือด และกล้ามเนื้อ ในปีที่แล้วพบคนถูกกัดแล้วกว่ากว่า 8,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในรอบ 5 เดือนปีนี้ พบกว่า 1,500 ราย แนะวิธีดูแลหากถูกงูกัด ขอให้ล้างแผลที่ถูกกัดให้สะอาด ไม่ต้องพอกยา ห้ามใช้ปากดูดแผล เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด ใช้เชือกหรือผ้า รัดเหนือแผลที่ถูกกัดแน่นพอสอดนิ้วได้ 1 นิ้ว เพื่อลดและชะลอการซึมพิษงูเข้าร่างกาย นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในฤดูฝนนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกชุก สัตว์จำพวกสัตว์มีพิษ อาจหนีน้ำขึ้นมาอยู่ตามบ้านเรือนได้ ที่ต้องระวังมากที่สุดคือ งูพิษ ซึ่งแต่ละชนิดมีพิษต่ออวัยวะได้หลายระบบ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองเซรุ่มแก้พิษงูต่างๆ ไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ สามารถแก้พิษงูได้ 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่าไทย(Cobra) งูจงอาง (King cobra) งูสามเหลี่ยม (Banded krait) งูทับสมิงคลา (Malayan Krait) งูแมวเซา (Russell, s viper) งูกะปะ (Malayan pit viper) และงูเขียวหางไหม้ (Green pit viper) นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า ในรอบ 5 เดือนปีนี้ มีผู้ถูกงูกัดแล้ว 1,513 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุ 15-54 ปี สำหรับปี 2550 มีรายงานทั้งหมด 8,273 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยถูกกัดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม จำนวน 1,042 ราย พบในภาคกลางมากที่สุด 2,825 ราย รองลงมา ภาคเหนือ 2,045 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,834 ราย และภาคใต้ 1,569 ราย ผู้ถูกกัดส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 อยู่ในชนบท ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ผู้ถูกงูกัดเพียงร้อยละ 12 ที่สามารถบอกชนิดงูที่กัดได้ อันดับ 1 ได้แก่ งูกะปะ ร้อยละ 47 รองลงมาคือ งูเขียวหางไหม้ ร้อยละ 37 งูเห่าร้อยละ 12 ที่เหลือเป็น งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูจงอาง งูทะเล การสังเกตว่างูที่กัดเป็นงูพิษหรือไม่ สามารถดูได้จากรอยเขี้ยว โดยงูพิษทุกชนิดจะมีเขี้ยวพิษหน้าและหลัง รอยกัดที่พบส่วนใหญ่จะมี 2 รอย ระยะห่างกันประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร ตามขนาดงู ถ้ากัดไม่เต็มที่ อาจเห็นรอยข้างเดียว หรือหากกัดหลายครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอย บาดแผลบางทีอาจเห็นแค่รอยขีดข่วน แต่ทำให้เกิดพิษได้เหมือนกัน ส่วนงูไม่มีพิษ จะมีแค่ฟัน ไม่มีเขี้ยว จึงเห็นรอยฟันเป็นรูปครึ่งวงกลม ในการดูแลเบื้องต้นหลังถูกงูพิษกัด ต้องให้ผู้ที่ถูกกัดนอนนิ่งๆ เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอวัยวะที่ถูกกัด เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะทำให้พิษงูดูดซึมเร็วขึ้น ที่สำคัญอย่าให้ยาหรือเครื่องดื่มที่เป็นการกระตุ้น เพราะจะทำให้อาการของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงได้ ให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดหยุ่น หากไม่มีให้ใช้ผ้าธรรมดาพันตั้งแต่บริเวณใต้รอยเขี้ยวงู ขึ้นไปจนเหนือข้อต่อของแขนขา อาจใช้วิธีขันชะเนาะ แต่ต้องคลายทุก 15-20 นาที ป้องกันเนื้อส่วนปลายขาดเลือด ทั้งนี้เพื่อให้พิษกระจายได้ช้าลง หาไม้ดามเป็นเฝือกเพื่อจำกัดไม่ให้เคลื่อนไหว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาโดยเร็ว อาการที่มักพบหลังถูกงูพิษกัดก็คือ อาการปวด บวมที่บริเวณรอยเขี้ยว มีเลือดออกใต้ผิวหนัง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยถูกพิษ ทำให้น้ำรั่วออกนอกเส้นเลือดได้มาก หากเป็นงูพิษที่มีพิษต่อระบบเลือด อาการบวมจะมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมีเนื้อตายเกิดขึ้นหลังถูกกัด โดยเฉพาะงูเห่า พบได้ประมาณร้อยละ 50 ทั้งนี้ งูไทย มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ งูที่มีพิษทางระบบประสาทได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษ งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา หลังถูกกัด บริเวณแผลอาจบวม ปวด ต่อมาจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนลำบาก อัมพาต หายใจเองไม่ได้ กลุ่มที่ 2 คือ งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เลือดออดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ ทำให้ไตวายได้ ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ กลุ่มที่ 3 งูที่มีพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไตวาย เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ได้แก่งู ทะเล นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่นๆ หลังถูกกัดได้ เช่น มีไข้ หมดสติ คลื่นไส้ อาเจียน ******************************* 9 มิถุนายน 2551


   
   


View 10    09/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ