เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ชื่นชมไทยที่ควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างดี ไม่พบคนติดเชื้อเกือบ 2 ปี และขอไทยช่วยดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่พำนักในไทยขณะนี้ 40,000 คนเท่าเทียมกับคนไทย นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายฮิเดะอะกิ โคะบะยะชิ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะพร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อบ่ายวันนี้ (6 มิถุนายน 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ว่า การหารือในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ได้หารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่ และการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก นายไชยากล่าวว่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ได้แสดงความชื่นชมที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดโรคไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่พบผู้ป่วยติดต่อกันมาเกือบ 2 ปี และได้ปรึกษาหารือความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยสามารถสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อใช้กับพนักงานในบริษัท หากเกิดการระบาด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยจะเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมของอาเซียนในการประสานการจัดการยาโอเซลทามิเวียร์ด้วย อย่างไรก็ตามได้ให้ความมั่นใจทางญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ในปีนี้พบการติดเชื้อในสัตว์ปีก แต่ไม่มีการติดเชื้อในคน โดยไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 800,000 คน จับตาดูทั้งโรคไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ในทุกหมู่บ้าน ทำให้ระบบการควบคุมป้องกันโรคมีความเข้มแข็งและทันท่วงที สำหรับเรื่องผู้สูงอายุ ขณะนี้ไทยมีจำนวนมากขึ้น มีกว่า 6 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรับมือปัญหาสุขภาพ เน้นทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาและฟื้นฟู โดยไทยมีนโยบายจัดทำที่พักดูแลผู้สูงอายุทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ (Long stay) และเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค (Medical Hub) ซึ่งขณะนี้มีผู้สูงอายุญี่ปุ่นหลังเกษียณเดินทางเข้ามาพัก และทำงานในไทยประมาณ 40,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยดูแลด้านการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกับคนไทยด้วย โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านสาธารณสุขมายาวนาน ทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขสาขาต่าง ๆ เช่นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ให้ทุนฝึกอบรมหลักสูตรโรคผิวหนังแก่แพทย์ในทวีปเอเชีย ที่สถาบันโรคผิวหนัง โครงการพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และโครงการที่หน่วยงานของญี่ปุ่นอื่นๆ ให้การสนับสนุน เช่น การจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันไข้หวัดนกแก่ประเทศในกลุ่มอาเซียน และโครงการวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดนกของมหาวิทยาลัยโอซาก้ากับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในปี 2551 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มิถุนายน 2551 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกจากทั่วประเทศ ยังไม่พบรายใดติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป *************************** 6 มิถุนายน 2551


   
   


View 9    06/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ