กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้คนไทยวัย 11 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายให้มากขึ้น อย่างน้อยให้ได้วันละ 30 นาที วงการแพทย์ทั่วโลกชี้เป็นวัคซีนป้องกัน 5 โรคร้าย ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ได้ร้อยละ 80 ป้องกันโรคมะเร็ง ได้ร้อยละ 40 และป้องกันไข้หวัดได้ ผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไปออกกำลังกายเพียง 16 ล้านกว่าคน โดยคนจบปริญญาตรีออกกำลังกายน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 14 นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดในทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์กระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นวัคซีนขนานเอกในการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังอันตราย 5 โรค ที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดให้คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในขณะนี้ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเบาหวาน มีรายงานเสียชีวิตปีละ 35 ล้านคน เฉลี่ยวินาทีละ 1 คน หรือร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ผู้เสียชีวิตครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 70 ปี โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวนี้ มาจากความเสี่ยง 3 ปัจจัยด้วยกันคือ การกินอาหารที่มีไขมันมาก ผักน้อย การขาดการออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ เฉพาะการไม่ออกกำลังกายอย่างเดียว เป็นต้นเหตุให้คนเสียชีวิตปีละเกือบ 2 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานผลการสำรวจล่าสุด ครั้งล่าสุดในปี 2550 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 55 ล้านคน พบว่าในจำนวนนี้ออกกำลังกายร้อยละ 30 หรือประมาณ 16 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 เล็กน้อย โดย 1 ใน 3 ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละ 21-30 นาที ส่วนใหญ่เกือบครึ่งเล่นกีฬา รองลงมาคือ เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ฟิตเนส รำไม้พลอง โยคะ ไทเก็ก จี้กง ผู้ออกกำลังกายประมาณครึ่งหนึ่ง สำเร็จการศึกษาไม่เกินประถมศึกษา ต่ำสุดคือระดับปริญญาตรี มีร้อยละ 14 ทั้งนี้ เหตุผลของสำคัญของการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 77 ต้องการให้ร่างกายแข็งแรง รองลงมาคือเพื่อนชวน ร้อยละ 9 มีปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 7 เพื่อคลายเครียด และร้อยละ 3 ต้องการลดน้ำหนัก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาล สถานีอนามัย ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ออกกำลังกาย โดยสามารถเข้าไปใช้บริการที่สนามออกกำลังกายของสถานบริการได้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนรับประทานผัก ผลไม้เพิ่มขึ้นให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม และรณรงค์ให้ลด ละเลิกบุหรี่ ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคอ้วนกำลังเป็นศัตรูสุขภาพยิ่งใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 21 สาเหตุเกี่ยวข้องกับการไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีไขมันสูง องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ใหญ่ทั่วโลกอ้วน 1,000 ล้านคน หากไม่ปรับแก้พฤติกรรม ในอีก 7 ปี ผู้ใหญ่อ้วนจะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านคน ส่วนเด็กทั่วโลกอายุต่ำกว่า 5 ขวบอ้วน 22 ล้านคน นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งจากการสำรวจในปีเดียวกัน พบประชาชนอายุ 11 ปีขึ้นไป ป่วยและเข้ารักษาตัวที่แผนกผู้ป่วยนอกเพียง 9 ล้านกว่าคน หรือป่วยเพียงร้อยละ 17 ในจำนวนนี้เป็นผู้ทีไม่ได้ออกกำลังกายเกือบร้อยละ 70 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีจำนวน 3 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่ออกกำลังกายร้อยละ 74 เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า การออกกำลังกายทำให้สามารถลดการป่วยลงได้ นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า การออกกำลังอย่างน้อยเพียงวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 5 วัน โดยออกกำลังกายให้หายใจเร็วขึ้น มีเหงื่อซึม สามารถทำเป็นช่วงๆ ได้รวมแล้วให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที ในผู้ใหญ่จะสามารถลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง คือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านมได้ ส่วนในเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน ยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ยิ่งดี และสามารถทำเป็นช่วงๆ ได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของเด็กแต่ละคน ผลที่ได้จะทำให้กล้ามเนื้อกระดูก ข้อต่อแข็งแรง ระบบหัวใจทำงานดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักตัว และทำเด็กมีความเชื่อมั่นตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ ยาเสพติด และหากกวาดล้างความเสี่ยงก่อโรคเรื้อรัง ทั้งด้านการปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่ จะสามารถตัดความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองลงได้ร้อยละ 80 และสามารถป้องกันการเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 40 แต่หากไม่แก้ไข โรคเรื้อรังนี้จะคุกคามชีวิตประชาชนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 17 ในอีก 7 ปีข้างหน้า ************************ 3 มิถุนายน 2551


   
   


View 8    03/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ