รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัปดาห์รณรงค์กำจัดโรคเท้าช้าง ประจำปี 2551 จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพบผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุดในประเทศจำนวน 127 ราย สาเหตุมีป่าพรุเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเสือ รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกดำเนินการป้องกันโรคเท้าช้างได้ไม่เต็มพื้นที่ เชิญชวน ประชาชนทุกคนในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดนราธิวาส ขอรับยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้างได้ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
วันนี้ (2 มิถุนายน 2551) ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการกำจัดโรคเท้าช้าง จังหวัดนราธิวาส ปี 2551 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน 2551เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อ ได้รับประทานยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้างทุกคน เป็นการตัดวงจรแพร่เชื้อ ช่วยกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทย
นายไชยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทย โดยจัดทำโครงการกำจัดโรคเท้าช้างขึ้น โดยใช้มาตรการจ่ายยารักษากลุ่ม (Mass Drug Administration) แก่ประชาชนที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปในพื้นที่แพร่เชื้อ ครอบคลุมร้อยละ 85 ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี เริ่มโครงการตั้งแต่ ปี 2545-2549 หลังสิ้นสุดโครงการเหลือเพียงจังหวัดนราธิวาส ที่ต้องดำเนินการจ่ายยารักษากลุ่มต่อไป เนื่องจากยังพบผู้ป่วยรายใหม่ ในปี 2551 มีพื้นที่จ่ายยา 87 หมู่บ้าน ครอบคลุมประชากร 80,190 คน สำหรับสถานการณ์ของโรคเท้าช้างในประเทศไทย ขณะนี้พบในบางหมู่บ้านใน 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก และนราธิวาส
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมโครงการกำจัดโรคเท้าช้างตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2551 พบผู้ป่วยโรคเท้าช้าง 127 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 18.05 ต่อแสนประชากร สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีป่าพรุใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงเสือที่เป็นพาหะนำเชื้อ คือ บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) มาสู่คน ประกอบกับเหตุการณ์ไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการจ่ายยาได้ครอบคลุมประชากรเป้าหมาย โดยเป็นผู้ป่วยที่พบเป็นระยะแพร่เชื้อพยาธิโรคเท้าช้างในโลหิต 118 ราย ระยะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ 6 ราย และผู้ป่วยอวัยวะบวมโต 3 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี 31 ราย รองลงมา ตำบลลูโบ๊ะบือซา อำเภอยี่งอ 23 ราย
สำหรับในปี 2551 จังหวัดนราธิวาสได้มีการจัดสัปดาห์รณรงค์กำจัดโรคเท้าช้างขึ้น ระหว่างวันที่2 - 6 มิถุนายน 2551 โดยให้ประชาชนอายุ 2 ปีขึ้นไป ยกเว้นหญิงมีครรภ์ ในพื้นที่เสี่ยง 87 หมู่บ้าน 21 ตำบล ใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ยี่งอ บาเจาะ ตากใบ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และเจาะไอร้อง จำนวน 80,190 คน รับประทานยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้าง จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ขอรับยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้างได้ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
****************************************** 2 มิถุนายน 2551
View 14
02/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ