กลุ่มงานทันตกรรม รพ.หาดใหญ่ พัฒนาระบบบริการรักษารอยโรคเยื่อบุช่องปาก เนื่องจากพบมะเร็งช่องปากสูงเป็นลำดับ 5 ของชายไทย โดยให้การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี พบให้ผลคุ้มค่า สามารถป้องกันเซลล์เยื่อบุกลายเป็นเนื้อร้ายในช่องปากตั้งแต่เนิ่นๆ และใช้เป็นกุญแจนำไปสู่การวินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้ อาทิ เบาหวาน เอดส์ ในการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ นางสาวพัชรี กัมพลานนท์ ทันตแพทย์งานศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กลุ่มงานทันตกรรม รพ.หาดใหญ่ ได้รับรางวัลผลงานวิชาการชมเชยของปี 2550 จากการศึกษาเรื่อง “การพัฒนาระบบบริการรักษารอยโรคเยื่อบุช่องปากในรพ.หาดใหญ่” โดยตั้งคลินิกดูแลแผลในช่องปากของผู้ป่วยทั่วไปโดยตรง ทำให้ทันตแพทย์สามารถค้นหาความผิดปกติของเยื่อบุช่องปาก และให้การดูแลรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ โดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็งช่องปากตั้งแต่เนิ่นๆ นางสาวพัชรีกล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ช่องปากน้อยมาก รวมทั้งปริมาณผู้ป่วยทันตกรรมนับวันจะมีจำนวนมากขึ้นในคลินิกทันตกรรมทุกแห่ง ทำให้ทันตแพทย์ซึ่งทำหน้าที่ตรวจและคัดกรองผู้ป่วยเพื่อรักษาทางทันตกรรมชนิดต่างๆ เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินน้ำลาย มีเวลาไม่เพียงพอในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีแผลหรือรอยโรคอื่นๆ ของเยื่อบุช่องปาก เช่น รอยฝ้าขาว รอยแดง อาการเจ็บแสบของเยื่อบุช่องปาก ซึ่งรอยโรคเหล่านี้หลายชนิดอาจรักษาให้หายขาด หรือป้องกันด้วยวิธีทันตกรรมง่ายๆ เช่น การควบคุมสุขภาพช่องปากร่วมกับการแก้ไขสาเหตุ หากทิ้งไว้รอยโรคเหล่านั้นอาจกลายเป็นมะเร็งช่องปากได้ โดยพบมะเร็งช่องปากสูงเป็นลำดับ 5 ของชายไทย และพบสูงเป็นอันดับ 2 ของผู้ชายในภาคใต้เมื่อเทียบกับมะเร็งทุกชนิดของร่างกาย สำหรับคลินิกแผลในช่องปาก โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2533 โดยรับผู้ป่วยทุกประเภทที่มีอาการปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก เช่น แผลร้อนใน เชื้อรา แผลในปาก รอยฝ้าขาวในปาก เข้ามาตรวจที่คลินิก จากนั้นได้นำข้อมูลของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับบริการในช่วงระยะ 10 ปี คือ พ.ศ. 2540-2549 มาศึกษาทางระบาดวิทยา พบผู้ป่วยที่มีรอยโรคหรืออาการเจ็บแสบของเยื่อบุช่องปาก 939 คน จากผู้ป่วยในแผนก ทันตกรรม 326,234 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน พบรอยโรคทั้งหมด 6 กลุ่ม มากที่สุดเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ร้อยละ 33 มักพบที่ลิ้น ริมฝีปาก อันดับ 2 ได้แก่ รอยโรคเกิดจากการใช้ฟันปลอม รอยฝ้าขาวจากการสูบบุหรี่ ร้อยละ 19 มักพบที่เพดานปาก ลิ้น อันดับ 3 ได้แก่ อาการปวดแสบปวดร้อนที่ไม่ปรากฏรอยโรค ร้อยละ 18 มักพบที่ลิ้น เพดานปาก อันดับ 4 รอยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส พบร้อยละ 17 อันดับ 5 รอยโรคที่เป็นสัญญาณความผิดปกติของเซลล์มะเร็งในช่องปาก ซึ่งยืนยันโดยผลการตรวจชิ้นเนื้อ ร้อยละ 11 และอันดับ 6 รอยโรคอื่นๆ โดยผู้ป่วยที่มีรอยโรคกลับมาให้ติดตามผลการรักษา 842 คนคิดเป็นร้อยละ 90 สามารถรักษาโดยการควบคุมสุขภาพช่องปากร่วมกับยาพื้นฐานได้ เช่น ยาป้าย ยาอมบ้วนปากหรือวิตามิน 750 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ทั้งนี้ หลังจากพบผู้ป่วยแล้ว จะเริ่มรักษาด้วยวิธีง่ายที่สุด อาทิ ผู้ป่วยที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี จะได้รับการปรับสภาพช่องปาก โดยการขูดหินน้ำลายร่วมกับการปรับพฤติกรรมผู้ป่วยเพื่อควบคุมสุขภาพช่องปาก เช่น ถอดฟันปลอมชนิดถอดได้ออกแช่น้ำก่อนทุกคืน ใช้ผ้าก๊อสเช็ดฟันและเหงือกหลังแปรงฟัน อมน้ำเกลืออุ่นๆ หลังอาหาร และงดอาหารรสจัด ร่วมกับการใช้ยาที่จำเป็น ส่วนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากจะส่งไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับคู่มือแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปาก และนัดผู้ป่วยทุกรายมาติดตามผลการรักษาอย่างน้อย 1-2 ครั้ง สำหรับหลายรายต้องติดตามผู้ป่วยเป็นระยะๆ ตลอดไป การพัฒนาระบบบริการครั้งนี้ เกิดความชัดเจนต่อผู้ป่วยและทันตแพทย์ ในการตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุช่องปากตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยได้รับการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ก่อนที่รอยโรคเยื่อบุช่องปากหลายชนิดจะกลายเป็นมะเร็งต่อไป ซึ่งทันตแพทย์ที่มีความสนใจต่อรอยโรคเยื่อบุช่องปากและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบบริการในกลุ่มงานทันตกรรมได้ ****************************** 28 พฤษภาคม 2551


   
   


View 17    28/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ