ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 179 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขจับมือกรุงเทพมหานคร ทำแผนดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฯทุกเขต เร่งคัดกรองเชิงรุกใน 15 ชุมชนที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ขนาด 3,000 เตียง รับผู้ป่วยสีเหลือง
บ่ายวันนี้ (5 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ในประเด็นการควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. โดย นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดีให้การช่วยเหลือสนับสนุนการบริหารจัดการโรคโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. โดยในด้านการบริหารจัดการเตียง /การส่งต่อผู้ป่วยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ได้เข้าไปสนับสนุน รวมทั้งเปิดศูนย์แรก-ส่งต่อ นิมิตรบุตรรองรับผู้ติดเชื้อตกค้างตามบ้าน และล่าสุดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ขนาด 3,500 เตียง รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง จาก กทม. โดยใช้สถานที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ระดมบุคลากร แพทย์ พยาบาล จาก 60 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดน้อยหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่
ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การบริหารจัดการในพื้นที่ กทม. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และดูแลผู้ติดเชื้อ โดยจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฯมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาการในทุกเขตของ กทม. ซึ่งใน กทม.มีชุมชน กว่า 2,000 แห่ง และมี 15 ชุมชน ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนสะพานขาว ได้ส่งทีมเชิงรุกเข้าไปตรวจคัดกรอง โดยที่คลองเตยตรวจทุกวันวันละ 1,500 - 2,000 ราย เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำรายชื่อเข้าระบบการส่งต่อศูนย์เอราวัณ 1669 และทำการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล ,โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตามระดับอาการ โดยในพื้นที่เขตที่มีการระบาดมากจะมีศูนย์พักรอคอยการส่งต่อนำผู้ติดเชื้อในชุมชนมาเตรียมพร้อมก่อนนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะได้รับการดูแลให้กักกันตัวเองที่บ้าน มีชุมชนและการสนับสนุนภาคประชาสังคมเข้าไปดูแลเพื่อลดการแพร่เชื้อ มีการช่วยเหลือเรื่องอาหารสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมาก เช่น ชุมชนคลองเตยเริ่มดำเนินการไปแล้วทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงเรียนต่างๆ
******************************** 5 พฤษภาคม 2564