ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 223 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารสุข เปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 จ.สมุทรสาคร สนับสนุนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมระบบให้พร้อมรองรับกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อภายในจังหวัด
วันนี้ (8 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 จ.สมุทรสาคร ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ผู้บริหารหน่วยราชการ และภาคเอกชน ร่วมเปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่ง ที่ 10
ดร.สาธิตกล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ของ จ. สมุทรสาครมีแนวโน้มดีขึ้น ควบคุมสถานการณ์ได้ดี จำนวนผู้ติดรายใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน การระดมสรรพกำลังของบุคลากรสาธารณสุขในการค้นหาเชิงรุก นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบดูแลรักษา รวมทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบการ ทำให้การควบคุมโรคในจังหวัดสมุทรสาครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนพื้นที่ ระดมทุนในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้แรงงานในจังหวัดสมุทรสาครได้รับการดูแลรักษา ช่วยแบ่งเบาภาครัฐในการดูแลผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาครได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ตั้งแต่วันที่ 1-7 มีนาคม 2564 ได้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกไปแล้ว 7, 833 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,132 คน อสม. 545 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 1,120 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 31 คน และประชาชนทั่วไป 5 คน สำหรับภาพรวมการครองเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อทั้งหมด 5,796 เตียง ใช้ไปแล้ว 288 เตียง จำนวนนี้อยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาคร 119 เตียง
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า จังหวัดสมุทรสาคร มีศูนย์ห่วงใยคนสาครแล้วจำนวน 9 แห่ง ซึ่งบางแห่งได้ปรับและนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ แล้ว การตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และจากการสนับสนุนพื้นที่ 49 ไร่ ของคุณแม่เง็กเน้ย ศิริชัยเอกวัฒน์ แห่งนี้ สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 200 เตียง มีระบบระบายอากาศ การบำบัดน้ำเสียระบบปิดป้องกันเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ได้มาตรฐานตามหลักสุขาภิบาล มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อรองรับและให้ระบบมีความพร้อมเสมอ ซึ่งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาการใช้งานตามความเหมาะสมของสถานการณ์ต่อไป
******************************** 8 มีนาคม 2564
*******************************************