ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 217 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผยยังเฝ้าระวังโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งในสถานพยาบาลและนอกสถานพยาบาลแม้สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ส่วนวัคซีนโควิด 19 ฉีดสะสม 3 วันรวม 7,262 ราย เบื้องต้นรายงานอาการไม่พึงประสงค์ 20 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยอักเสบที่ฉีด เหนื่อย ปวดเมื่อย
วันนี้ (3 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 17 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 8 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รักษาหาย 63 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 3 มีนาคม 2564 จำนวน 21,871 ราย รักษาหายสะสม 21,306 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.42 เสียชีวิตสะสม 24 ราย อยู่ระหว่างรักษา 541 ราย โดยผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้จำนวน 35 ราย พบใน 5 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า จากการสอบสวนควบคุมโรคกรณีที่เชื่อมโยงกับตลาด จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 676 ราย ร้อยละ 90 สัมผัสกับผู้ติดเชื้อเดิม ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายของที่ตลาดและลูกจ้าง ทั้งนี้ จากการดำเนินการในหลายมาตรการ ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหาเชิงรุก แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดน้อยลง เนื่องจากตรวจจับการระบาดได้ทั้งหมด ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้ แต่อาจมีการรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อยู่ในการดูแลรักษา จึงไม่ต้องวิตกกังวล และทั่วประเทศยังคงดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยสุ่มตรวจโควิด 19 ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 6,635 ราย พบติดเชื้อ 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.4 ได้แก่ นครปฐม 4 ราย ปทุมธานี 3 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย จากการซักประวัติพบว่า มีความสัมพันธ์กับตลาดที่มีการติดเชื้อสุ่มตรวจผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 989 ราย พบการติดเชื้อ 1 รายที่ จ.ปทุมธานี ถือว่าระบบเฝ้าระวังทำงานอย่างต่อเนื่อง ตรวจจับสัญญาณการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังการติดเชื้อนอกสถานพยาบาล ได้แก่ เรือนจำ สถานพินิจ ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในกลุ่มผู้ต้องขังผู้ต้องกักรายใหม่ และเพิ่มระบบเฝ้าระวังในชุมชน โดยเฉพาะสถานที่เคยมีการระบาดจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สถานบริการผับบาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สนามชนไก่ สถานที่ขนส่งต่างๆ หน่วยราชการด่านหน้า โรงงาน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ดูแลผู้สูงวัย โรงเรียน และศาสนสถาน เป็นต้นทั้งผู้ประกอบกิจการ พนักงาน โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดกลุ่มและเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงแม้สถานการณ์การระบาดจะคลี่คลาย และย้ำว่าแม้จะอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนคลาย ยังต้องเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกไปในที่สาธารณะ
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2564 ฉีดวัคซีนครบแล้วทั้ง 13 จังหวัด รวม 7,262 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึง อสม. 6,784 ราย , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 365 ราย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และมีระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.อาการไม่รุนแรง คือ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด หากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดขอให้รายงานในระบบไลน์หมอพร้อม และ 2.อาการรุนแรง ได้แก่ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือชักหมดสติ ขอให้รีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อแจ้งรถพยาบาลมารับหรือถ้าหมดสติให้ญาติรีบพาไปโรงพยาบาล
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ขณะนี้ได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน 20 ราย โดยมีอาการไม่รุนแรง 19 ราย ได้แก่ ปวดอักเสบบริเวณที่ฉีด 1 ราย , เหนื่อย 12 ราย , ปวดเมื่อยตามตัว 4 ราย และคลื่นไส้อาเจียน 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย มีอาการรุนแรง โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ รับการฉีดวัคซีนก่อนเที่ยง ช่วงเฝ้าระวังอาการที่สถานพยาบาล 30 นาที อาการปกติ แต่ผ่านไป
5 ชั่วโมง เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มาโรงพยาบาลตรวจพบความดันโลหิตต่ำ ซึ่งรายนี้เคยมีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลินในตอนเด็ก หลังจากรักษาอาการดีขึ้น ขณะนี้อาการปลอดภัย
“รายนี้ถือว่ามีอาการรุนแรงแต่ไม่มาก เนื่องจากเกิดในระยะเวลา 5 ชั่วโมงไปแล้ว มีความดันตก แต่ไม่มีผื่นขึ้น ส่วนจะเกิดจากวัคซีนหรือไม่ จะมีการรวบรวมข้อมูล ประวัติ และผลการตรวจต่างๆ ให้คณะกรรมการพิจารณารายละเอียดทั้งหมด คาดว่าผลจะออกมาภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกรณีแพ้ยาเพนิซิลลินไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีน แต่ให้เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากอาจแพ้สารอื่นๆ ได้ง่าย สำหรับสถานพยาบาลขอให้ดำเนินการฉีดวัคซีนตามระบบ 8 ขั้นตอนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที เพราะส่วนใหญ่การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงมักเกิดขึ้นภายใน 15 นาที หากเกิน 30 นาทีส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและมีเวลาในการรักษา แนะนำว่าหลังฉีดวัคซีน แขนข้างที่ฉีดแล้วอย่าออกแรงหรือยกของหนัก ขอให้พัก 4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้วัคซีนเข้าเส้นเลือดเร็วเกินไป ก็จะมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น” นายแพทย์โอภาสกล่าว
**************************** 3 มีนาคม 2564
***************************************