ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 245 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ 10 ชั้น รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉินและโรคหัวใจ ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คาดแล้วเสร็จในปี 2567
วันนี้ (1 มีนาคม 2564) ที่ รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ 10 ชั้น โดยมี นายพูลทรัพย์ สมบูรณ์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมพิธี
ดร.สาธิตให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลพุทธโสธร เป็นโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัด ขนาด 595 เตียง มีผู้รับบริการจำนวนมาก อยู่ในเขตพื้นที่บูรณาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กระทรวงสาธารณสุข มีแผนเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล ให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบเบ็ดเสร็จ ลดรอคอย ลดการส่งต่อ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะโรคผู้ป่วยโรคหัวใจ มีอัตราตายผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (STEMI) ร้อยละ 5.07 เนื่องจากยังไม่มี CCU และห้องสวนหัวใจ จากสถิติเดือนสิงหาคม 2562 จนถึงเดือนมกราคม 2564 มีผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัดทั้งหมด 156 ราย และรอผ่าตัด จำนวน 74 ราย และมีแผนการก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ 10 ชั้น เพื่อรองรับการบริการที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิต
สำหรับอาคารก่อสร้างศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ เป็นแบบ คสล.10 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 18,672 ตารางเมตร ภายในอาคารจะประกอบด้วย ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ศูนย์ส่องกล้องและห้องตรวจผู้ป่วยนอกศัลยกรรม ห้องตรวจผู้ป่วยนอกพิเศษนอกเวลา หอผู้ป่วย ICU หัวใจ หอผู้ป่วย ICU อุบัติเหตุ ห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization Lab) ห้องตรวจหัวใจ ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ ห้องแยกโรค ห้องผู้ป่วยแรงดันลบ (Negative Pressure Room) สำนักงานอำนวยการ ห้องประชุมใหญ่ และห้อง Teleconference กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สนับสนุนงบประมาณ 379,945,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,200 วัน จะแล้วเสร็จภายในปี 2567
ทั้งนี้ โรงพยาบาลพุทธโสธร เป็นโรงพยาบาลขนาด ขนาด 595 เตียง ในปี 2563 มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 1,612 คน ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 503 คน โรคที่พบส่วนใหญ่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิต เบาหวาน ไตวาย มะเร็ง ในส่วนผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน เข้ารับบริการ 19,716 ราย
******************************** 1 มีนาคม 2564
***************************