ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 218 View
- อ่านต่อ
แพทย์ย้ำการใช้วัคซีนโควิด 19 ควบคู่มาตรการป้องกันโรค ช่วยควบคุมโรคและกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าวิธีอื่น ยันการพัฒนาวัคซีนยึดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แม้ทั่วโลกขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน ขอประชาชนมั่นใจ ชี้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยการใช้สารพันธุกรรม ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมในมนุษย์
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล (molecular medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 กล่าวถึงประโยชน์ของวัคซีนโควิด 19 สำหรับประชาชน ว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น สิ่งที่จะทำให้ เราควบคุมโรคระบาดและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด คือ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชน เนื่องจากหากไม่มีมาตรการป้องกันโรค เช่น เว้นระยะห่าง ล้างมือ และใส่หน้ากาก และไม่มีการใช้วัคซีน จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก หากใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเดียวโดยไม่มีวัคซีนจะต้องใช้เวลานานหลายปี จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในคนจำนวนมากได้ แต่โรคโควิด 19 มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ คือการใช้วัคซีนร่วมกับมาตรการป้องกันโรค โดยต้องฉีดเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไม่น้อยกว่า 50-60% ของประชากร
ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ทั้งจริงและไม่จริงจำนวนมากในสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความสับสนในสังคม จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้ เนื่องจากเชื้อโควิด 19 จะใช้ “โปรตีนเอส” จับกับเซลล์มนุษย์เพื่อแทรกตัวเองเข้าไปเจริญเติบโตในร่างกายมนุษย์ การทำวัคซีนจึงใช้วิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” คือ นำโปรตีนดังกล่าวมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิต้านทานร่างกายรู้จักและจดจำ เมื่อเจอไวรัสตัวจริง เซลล์ภูมิต้านทานก็จะทำลายเชื้อไวรัสที่เข้ามาได้ ทำให้ป้องกันการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อก็มีอาการไม่รุนแรง
ทั้งนี้ การผลิตวัคซีนโควิด 19 หลักๆ ขณะนี้มี 3 เทคโนโลยี ได้แก่
1.เทคโนโลยี mRNA ที่นำสารพันธุกรรม RNA ที่สร้างโปรตีนเอสของไวรัสมาทำวัคซีน แต่โดยปกติสารพันธุกรรมไวรัสจะมีเปลือกหุ้ม หากไม่มีเปลือกหุ้มจะไม่เสถียรและไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ จึงนำไขมันระดับนาโนมาหุ้ม แต่การเก็บรักษาวัคซีนขนิดนี้ต้องใช้อุณหภูมิต่ำมากๆ คือ ลบ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน มีอุณหภูมิสูง การจัดเก็บจึงมีความท้าทาย หากจัดเก็บไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งบริษัทไฟเซอร์และโมเดินนาร์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต
2.เทคโนโลยีไวรัลเวคเตอร์ เป็นการประดิษฐ์สารพันธุกรรม DNA เพื่อสร้างโปรตีนเอสของไวรัสโควิด และหุ้มด้วยเปลือกจากไวรัสอีกตัวเพื่อนำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งการใช้เปลือกไวรัสหุ้มสารพันธุกรรมทำให้สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียสได้ จึงเหมาะสมกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อน เทคโนโลยีนี้มีบริษัท แอสตราเซนเนกาและสปุตนิกของรัสเซียที่ใช้ในการผลิตวัคซีน
3.เทคโนโลยีเชื้อตาย ทำได้จากการนำเชื้อไวรัสจริงๆ มาเพาะเลี้ยงให้มีจำนวนมากขึ้น และใส่สารบางอย่างให้เชื้อตาย ไม่มีคุณสมบัติก่อโรคได้อีก แล้วนำมาทำวัคซีนโดยเติมสารกระตุ้นภูมิต้านทาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีใช้มานานทั้งวัคซีนพิษสุนัขบ้า โปลิโอ และตับอักเสบ สำหรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้มีของบริษัทซิโนแวคและซิโนฟาร์ม จากประเทศจีน
ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวต่อว่า การพัฒนาวัคซีนนั้น ความปลอดภัยมีความสำคัญอันดับหนึ่ง โดยมีการวิจัยทั้งระดับสัตว์ทดลอง คือในหนูและลิง การวิจัยในคนถึง 3 ระยะ เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ หากผ่านตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกจึงจะขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยยืนยันว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถฉีดวัคซีนได้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ ส่วนอาการปวดบวม มีไข้ หลังฉีดวัคซีนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัคซีน และยืนยันว่าด้วยข้อมูลในปัจจุบัน การใช้วัคซีนด้วย RNA และ DNA ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของมนุษย์
“การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศเรา และกำลังจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์นี้ จึงเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยทำให้คนไทยและประเทศไทยของเรา ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ครับ” ศ. ดร. นพ. วิปร กล่าว
**************************23 กุมภาพันธ์ 2564
**********************************