กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจการขายสุราในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ พบร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันและร้านค้าข้างทางกว่าร้อยละ 60 กระทำผิดขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย เพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัว อ้างเหตุเพราะต้องการมีรายได้ร้อยละ 63 และยังพบมีการขายสุราในสถานที่ห้ามขายคือปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สถานศึกษาร้อยละ 11 แนะทบทวนการออกใบอนุญาตขายสุราและเพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น หากร้านค้ากระทำผิด
วันนี้ (18 เมษายน 2551) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ให้สัมภาษณ์ว่าจากการเฝ้าระวังการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในเทศกาลสงกรานต์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มสำรวจการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน บริเวณสถานศึกษา และบริเวณศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง และเวลาที่ห้ามขาย จำนวน 1,073 แห่ง ใน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ตั้งแต่วันที่ 11-16 เมษายน 2551 พบร้านค้าร้อยละ 57 กระทำผิดขายสุราในช่วงเวลาที่ห้ามขาย คือ 00.00 -10.59 น. และ 14.01-16.59 น. โดยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัว และสูงกว่าช่วงปีใหม่ 2551 ถึงร้อยละ 4 เหตุผลที่ขายเนื่องจากต้องการมีรายได้ร้อยละ 63 รองลงมาคือ เห็นว่าไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังร้อยละ 18 และไม่ทราบว่ามีกฎหมายร้อยละ 15
นายไชยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย ตามกฎหมายเดิมกำหนดคือ ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน และสถานศึกษา ผลการสำรวจครั้งนี้พบมีร้านร้อยละ 11 กระทำผิดขายสุราให้ลูกค้า ลดลงกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมาและเทศกาลปีใหม่ร้อยละ 5-6 โดยพบในปั๊มน้ำมันสูงที่สุดร้อยละ 16 รองลงมาคือ ในวัด ร้อยละ 7 และในสถานศึกษาร้อยละ 3 เหตุผลที่ขาย ร้อยละ 31 อ้างว่าไม่รู้ว่ามีกฎหมาย รองลงมาคือ ต้องการมีรายได้พบร้อยละ 28 และเห็นว่าไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังร้อยละ 14 ขณะที่ร้านสะดวกซื้อใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือดี ไม่พบการกระทำผิด ต้องขอขอบคุณและชื่นชมที่ร่วมกันแก้ปัญหาสังคม
นายไชยา กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้พบว่า เกิดจากเมาสุราถึงร้อยละ 32 แม้ว่าหลายหน่วยงานจะออกมารณรงค์แล้วก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจครั้งนี้ ที่พบว่าผู้ประกอบการค้า ยังจำหน่ายสุราอย่างเสรี อาจพูดได้ว่าตลอดวันก็ว่าได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสุราได้ง่าย
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการสรรหาคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน คาดว่ากระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้งดขายเหล้าช่วงเทศกาล หรือควบคุมการขายสุราเช่นเดียวกับในช่วงเลือกตั้ง ก็จะเป็นทางออกที่ดี เชื่อว่าน่าจะลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง นายไชยากล่าว
นายไชยา กล่าวต่อไปอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันและควบคุมปัญหาสุราให้ได้ผล ควรมีการทบทวนการออกใบอนุญาตขายสุราให้เข้มข้นมากขึ้น และสาธารณสุขจะเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้พ.ร.บ.ใหม่ ซึ่งมีบทลงโทษค่อนข้างหนัก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากร้านค้ามีการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และให้ผู้บริหารปั๊มน้ำมันช่วยกันสอดส่องควบคุมการขายสุราในร้านค้าที่อยู่ในบริเวณปั๊มน้ำมันมากกว่านี้ โดยช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ขายสุราได้คือ 11.00 14.00 น. และ 17.00 24.00 น.
ผลการสำรวจครั้งล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในพ.ศ. 2549 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 16 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 โดยนิยมดื่มประจำมากกว่าดื่มนานๆ ครั้ง และนิยมดื่มทุกวันหรือเกือบทุกวันมากกว่าทุกสัปดาห์และทุกเดือน เพศชายดื่มมากกว่าเพศหญิง 5 เท่า ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลดื่มมากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลเล็กน้อย โดยหากประชาชนได้ก้าวเข้าไปมีประสบการณ์คลุกคลีกับสุราแล้ว เมื่ออายุมากขึ้นจะมีผลให้ดื่มมากขึ้น จนกลายเป็นวังวน ดื่ม ติด เสื่อมถอย ถอนตัวได้ยาก ทำให้ตอกย้ำความสำคัญของแนวคิดเรื่องการป้องกันการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย นายไชยา กล่าว
ทั้งนี้ 26 จังหวัดที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ลำพูน กระบี่ นครศรีธรรมราช ยะลา สงขลา และพัทลุง
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2551 ทีมกู้ชีพทั่วประเทศออกให้บริการทั้งหมด 18,303 ครั้ง โดยช่วยเหลือและนำผู้เจ็บป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 10 นาที ได้ร้อยละ 74 เพิ่มกว่าเทศกาลปีที่แล้วร้อยละ 6 เป็นการให้บริการเฉพาะอุบัติเหตุจราจร 7,590 ครั้ง หรือร้อยละ 41 ของการเจ็บป่วยทั้งหมด ประชาชนใช้บริการโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 ทั้งหมด 8,895 ครั้ง มากกว่าปี 2550 ถึง 2 เท่าตัว ทำให้ประชาชนมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
******************************* 18 เมษายน 2551
View 13
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ