รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ให้ความรู้ประชาชนในการ กำจัดซากแมวให้ถูกวิธี แนะนำประชาชนในพื้นที่มีแมวตาย ทำความสะอาดบ้านเรือน ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร จึงควรแยกเด็กเล็กไม่ให้เล่นคลุกคลีกับแมวที่ป่วย นอกจากนี้ ขอให้ระวังการติดเชื้อท๊อกโซพลาสโมซิสจากขี้แมว ซึ่งเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งลูกได้ แต่ในไทยพบได้น้อยมาก
จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่า พบแมวในหมู่บ้านชะไว ต.ชะไว อ.ไชโย จ.อ่างทอง ตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบที่ตำบลใกล้เคียงคือหมู่ 1 ต.จระเข้ร้อง หมู่ 1 ต.หลักฟ้า และประชาชนตื่นกลัวเนื่องจากอาจนำโรคสู่คนนั้น นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความรู้ในการป้องกันโรค โดยให้ประสานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทอง เพื่อร่วมตรวจสอบหาข้อมูล และให้ความรู้แก่ประชาชนในการกำจัดซากแมว การดูแลแมวที่ป่วยอย่างถูกวิธี
นายไชยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีแมวป่วยตาย 50-60 ตัว ด้วยอาการซึม อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และเสียชีวิตในเวลา 2-3 วัน โดยเป็นแมวในบ้านเดียวกันจำนวนหลายหลังคาเรือน บางบ้านมีจำนวนถึง 18 ตัว โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทองสันนิษฐานจากอาการเบื้องต้นว่า คล้ายหวัดแมว จึงเก็บซากแมวจำนวน 1 ตัว แมวป่วย 1 ตัว ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ คาดว่าจะทราบผลตรวจเบื้องต้นในเวลา 12.00 น.วันนี้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้แมวป่วยและตาย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง ในการกำจัดซากแมวที่ตายให้ถูกวิธี โดยการฝังและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณที่แมวตาย ดูแลแมวที่กำลังป่วยอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เก็บขยะสิ่งของ แยกเด็กเล็กให้อยู่บนบ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ในช่วงนี้ขอให้อยู่ห่างจากแมวที่ป่วย ไม่ควรอุ้มแมวเล่นหรือเอาแมวไปนอนด้วย
ทางด้านสัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ นายสัตวแพทย์ 8 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังคือ โรคพิษสุนัขบ้า โดยจากสถิติโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากสุนัขมากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ สัตว์อื่นๆ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แมว 2-3 เปอร์เซ็นต์ การป้องกันโรคนี้คือ ให้นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไปที่คลินิกทั่วไป เพราะราคาบริการไม่แพง ประชาชนที่โดนสัตว์กัดไม่ว่าแมวหรือสุนัข ขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที ให้ใส่ยาโพรวิโดนไอโอดีน และให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และกินยาตามที่แพทย์สั่ง โดยให้กักสัตว์ที่กัดไว้สังเกตอาการ 10 วัน หากไม่มีอาการแสดงว่าสัตว์ไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
อีกโรคหนึ่งที่ต้องระวังจากแมวคือ เชื้อก่อโรคท๊อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งเป็นเชื้อโปรโตซัวที่อยู่ในอุจจาระของแมว ในบ้านเราพบได้น้อยมาก โรคนี้ไม่เป็นปัญหากับบุคคลทั่วไป มีปัญหาเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่ไปสัมผัสกับอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้แท้งหรือเด็กในครรภ์มีความพิการได้
มีนาคม******************************* 24 มีนาคม 2551
View 8
24/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ