“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 162 View
- อ่านต่อ
รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)
ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2563
1. สถานการณ์ ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 553 ราย กลับบ้านแล้ว 45 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 599 ราย
2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 21 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 10,343 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 343 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 10,000 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 6,271 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 4,072 ราย
3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 183 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 นครรัฐ 2 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 22 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 306,677 ราย เสียชีวิต 13,017 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 81,008 ราย เสียชีวิต 3,255 ราย
2.สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 ใหม่เพิ่ม 188 ราย กลับบ้าน1 ราย
กระทรวงสาธารณสุขเผยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 188 ราย กลับบ้าน 1 ราย ล่าสุดส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมขนส่งทางบก ขอความร่วมมือ คัดกรองผู้เดินทางทุกคน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ในวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย เป็นชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร และมีผู้ป่วยเพิ่ม 188 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 65 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 21 ราย ,กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย ,กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 37 ราย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 15 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 8 ราย (ใน จำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้) ,กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 108 ราย
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จาก สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 45 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 553 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 599 ราย
ในเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอความร่วมมือประชาชนหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่ยังไม่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ให้สังเกตอาการตัวเองที่บ้าน ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social Distancing)อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจก่อน ที่สำคัญการตรวจเชื้อขณะที่ไม่มีอาการโอกาสพบเชื้อน้อยมาก ทำให้คนที่ตรวจแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อและออกไปมีกิจกรรมทางสังคมส่งผลต่อระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค
ขณะนี้ยอดผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนไทยพบมากในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่อาการน้อย ทำให้มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น เมื่อป่วยจะทำให้เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น กรณีสถานบันเทิง และสนามมวย ล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการในจังหวัดปริมณฑลได้สั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงชั่วคราว จึงขอความร่วมมือผู้ทำงานในสถานที่ที่ถูกสั่งปิด อย่าเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะคุณอาจนำเชื้อโรคไปแพร่ให้คนต่างจังหวัด คนใกล้ชิดในครอบครัว
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ส่งหนังสือด่วน ลงวันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระดับอำเภอและหมู่บ้านหลังจากที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบการเพิ่มของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้
1.จัดตั้งทีมอาสา โควิด – 19 ระดับอำเภอและหมู่บ้านเพื่อดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง
2. จัดทำฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มาถึงภูมิลำเนา ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป
3. ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักหรือที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา
4. แจ้งผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้ ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น, ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ซ้อนส้อม ,ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์,หลีกเลี่ยงการพูดคุย ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง, หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที
นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไปยัง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมขนส่งทางบก คัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้ทำความสะอาดสถานี ยานพาหนะก่อนและหลังเดินทางเน้นพื้นที่สัมผัสร่วม เช่น ราวจับบันได ประตู ห้องน้ำ เก็บบันทึกข้อมูลผู้เดินทาง ลดความแออัดผู้โดยสาร จัดที่นั่งให้เว้นระยะห่าง ให้คำแนะนำผู้โดยสารเรื่องการป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อถึงเดินทางถึงสถานีปลายทางหากพบผู้โดยสารมีไข้ ไอ และอาการระบบทางเดินหายใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อรายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
3. คำแนะนำสำหรับประชาชน
ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ตื่นตัว และรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia /และ “ไทยรู้ สู้โควิด” ทาง Twitter, Facebook, Line official, TikTok และChatBot 1422 ทาง ID : @COVID-19 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” ตรวจสอบข่าวลวงได้ที่ www.antifakenewscenter.com
************************************ 22 มีนาคม 2563
**********************