สาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิตของวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ 29 แห่งทั่วไทย ในปี 2549 พบมีสาเหตุจากอุบัติเหตุการขนส่งสูงอันดับ 1 บาดเจ็บรุนแรงรวมเกือบ 1 หมื่นราย เสียชีวิต 334 ราย ส่วนใหญ่เมาแล้วขับเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหตุมักเกิดในวันเสาร์-อาทิตย์ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในขณะนี้ปัญหาจากอุบัติเหตุการขนส่งนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ ที่เกิดมาจากความคึกคะนองในการขับขี่ ความประมาท ไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตของวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษาทั่วประเทศ ซึ่งสำนักระบาดวิทยาได้ทำการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่ 29 แห่ง กระจายทั่วภูมิภาคของประเทศ ในปี 2549 พบวัยรุ่นบาดเจ็บรุนแรงจากทุกสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุการขนส่ง การพลัดตกหกล้ม จมน้ำ ถูกพิษจากสัตว์หรือพืช รวมทั้งหมด 26,448 ราย เสียชีวิต 575 ราย เมื่อแยกตามสาเหตุพบว่า เกิดจากอุบัติเหตุการขนส่งสูงอันดับ 1 ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บ และเป็นเหตุให้เสียชีวิตเกือบร้อยละ 60 มีรายงานบาดเจ็บทั้งหมด 9,840 ราย เสียชีวิต 334 ราย รองลงมาคือ อุบัติเหตุจากการพลัดตก หกล้ม เจ็บทั้งหมด 7,297 ราย เสียชีวิต 20 ราย และถูกสิ่งของหล่นทับ บาดเจ็บ 4,775 ราย เสียชีวิต 24 ราย วัยรุ่นที่บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว กำลังเรียนในสถาบันศึกษาร้อยละ 77 พาหนะที่เป็นต้นเหตุ อันดับ 1 ได้แก่ รถจักรยานยนต์ พบร้อยละ 70 รองลงมาคือรถจักรยานและสามล้อ ร้อยละ 19 รถกระบะหรือรถตู้ ร้อยละ 6 รถอีแต๋น ร้อยละ 1 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักเกิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 16.00-23.59 น. โดยเกิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ร้อยละ 30 ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการชนกันและขับล้มหรือคว่ำเอง ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็คือการดื่มแล้วขับ โดยผู้บาดเจ็บร้อยละ 97 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับ และไม่สวมหมวกนิรภัยมากถึงร้อยละ 95 เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรง ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่จะต้องอาศัยความร่วมมือแก้ไขมากขึ้นคือ การดื่มสุราของวัยรุ่น เนื่องจากสถิติครั้งนี้ระบุชัดเจนว่า สุราเป็นตัวการเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งมีการควบคุมพฤติกรรมการไม่สวมหมวกนิรภัย และควรมีการเผยแพร่ข้อมูลอุบัติเหตุการขนส่งให้ประชาชนทราบตามสถานีตำรวจ จะทำให้ประชาชนตระหนักในการขับขี่มากขึ้น ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีครั้งเดียวกันนี้ ยังพบว่าวัยรุ่นถูกทำร้ายร่างกาย จนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 29 แห่ง ในปี 2549 จำนวน 549 ราย โดยร้อยละ 75 อายุ 10-14 ปี และเสียชีวิต 14 ราย โดยเหตุเกิดที่บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 รองลงมาคือบนถนน ร้อยละ 20 สถานศึกษาร้อยละ 14 เป็นเพศหญิงมากกกว่าชายในอัตรา 4 ต่อ 1 เหตุเกิดในวันอาทิตย์มากที่สุดร้อยละ 18 ลักษณะการทำร้าย มักใช้วัตถุไม่มีคม ร้อยละ 24 รองลงมาคือ ใช้วัตถุมีคม ร้อยละ 20 ทำร้ายโดยใช้กำลังกาย ร้อยละ 20 และใช้อาวุธปืน ร้อยละ 18 ************************************* 25 กุมภาพันธ์ 2551


   
   


View 11    25/02/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ