รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอเวลา 1 เดือนศึกษาข้อมูลซีแอลยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิด ทั้งเรื่องจำนวนผู้ป่วย จำนวนยาที่จะต้องใช้ต่อปี ก่อนหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์และต่างประเทศ ยืนยันไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ผู้ป่วยไทยจะได้เข้าถึงยาทุกคน ในราคาที่ถูกและมีประสิทธิภาพสูง โดยซีแอลยาเมื่อปี 2550 ยังคงเดินหน้าต่อ ผู้ป่วยเอดส์ได้ใช้ยาแล้ว ส่วนยารักษาโรคหัวใจ ไม่ได้ยกเลิกส่งยา คาดได้ใช้เดือนเมษายนนี้
เช้าวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิด ว่า เหตุผลที่ต้องทบทวนซีแอลยารักษามะเร็งครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการท้วงติงจากกระทรวงพาณิชย์ ว่าต้องตัดสินใจให้รอบคอบก่อน ไม่ควรเร่งรีบ เพราะเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องมีขั้นตอนดำเนินการให้รอบคอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกเรื่องนี้ แต่เป็นการชะลอเรื่องชั่วคราวเพื่อศึกษาข้อมูลทุกด้าน และไม่ให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยที่จะได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพราคาถูก และต่อประเทศชาติ โดยขอเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง และจำนวนยาที่จะต้องใช้ต่อปีให้ครบถ้วน ซึ่งจะต้องเป็นเหตุเป็นผล เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายด้วย
ขอยืนยันว่า ไม่ว่าผลการหารือทั้ง 3 กระทรวงจะออกมาอย่างไร ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเข้าถึงยาทุกคน กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีวันทอดทิ้งผู้ป่วยอย่างเด็ดขาด และยาที่จะนำมาใช้จะต้องมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก เราจะยึดที่ผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง นายไชยากล่าว
นายไชยากล่าวต่อไปว่า จากกรณีบริษัทยาของอินเดีย ที่ผลิตยารักษาโคลพิโดเกรล ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศซีแอลเมื่อปี 2550 และได้มีการนำเข้ายาแล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่มีความแน่นอนในเรื่องซีแอล อาจจะไม่ส่งยาให้นั้น ขอยืนยันว่าการชะลอซีแอลครั้งนี้ ทำเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับยาต้านไวรัสเอดส์และยารักษาโรคหัวใจที่ทำมาแล้วแต่อย่างใด ยังคงให้เดินหน้าต่อ อย่างไรก็ดี ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมทำความเข้าใจกับบริษัทของอินเดียโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ป่วย
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัวและยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ที่ใช้ละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อเดือนมกราคม 2550 ในส่วนของยาโคลพิโดเกรล ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อยาจากบริษัทคาดิล่า ฟาร์มาซูติคอล (Cadila Pharmaceutical) ประเทศอินเดีย รุ่นแรกจำนวน 2 ล้านเม็ด เพื่อให้ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการได้ใช้ ได้รับการชี้แจงจากบริษัทดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตตามที่ไทยสั่ง ไม่ได้มีการยกเลิกส่งยาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยเลื่อนกำหนดการส่งมอบเล็กน้อย จากเดือนมีนาคมเป็นเมษายน 2551 เพื่อตรวจสอบกระบวนการทางด้านกฎหมาย
สำหรับยาต้านไวรัสเอดส์ คือเอฟฟาวิเรนซ์ (Efavirenz) ซึ่งนำเข้าตัวแรก จากบริษัทแรนเด็กซี่ (Randexy) ประเทศอินเดีย ประมาณ 260,000 ขวด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ได้นำไปใช้บริการผู้ป่วยโรคเอดส์แล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนยาอลูเวียร์ (Aluvir) นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรมรุ่นแรก จากบริษัทแมททริกซ์ (Matrix) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดส่งให้โรงพยาบาลภาครัฐเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
*********************** 22 กุมภาพันธ์ 2551
View 13
22/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ