กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับไจก้า ประเทศญี่ปุ่น วางระบบดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อจากสถานพยาบาลสู่ชุมชน ดูแลฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุระยะหลังภาวะวิกฤติ พร้อมกลับบ้าน ช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ลดติดบ้าน ติดเตียง

          วันนี้ (20 สิงหาคม 2562) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศเพื่อพัฒนารูปแบบการบริการไร้รอยต่อในระยะกึ่งเฉียบพลันสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ.2562 (The National Conference under Thailand - Japan Cooperation Project on Seamless Health and Social Services Provision for Elderly Persons) เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาการจัดบริการแบบบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่นำร่อง โดยมีนายอาคิโอะ โคอิเดะ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ร่วมประชุม 500 คน

          ดร.สาธิตกล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573 คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมระบบบริการรองรับ ทั้งสวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือต้องปรับรูปแบบบริการสุขภาพให้เหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุมักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือทุพพลภาพ โดยประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ในการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ พ.ศ.2551 ทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ รูปแบบบริการที่มีประสิทธิผล และหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) และผู้จัดการดูแล (Care Manger) ซึ่งมีการอบรม Care Manger ไปแล้วกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ

          ปัจจุบันได้ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นโครงการที่ 3 ในการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุเชิงบูรณาการแบบไร้รอยต่อตั้งแต่สถานพยาบาลสู่ชุมชน ระยะเวลา 5 ปี (พฤศจิกายน 2561 – 31 สิงหาคม 2565) ใน 8 จังหวัดนำร่อง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี กทม. ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต โดยส่งต่อผู้สูงอายุกลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บที่ไขสันหลัง โรคจากอุบัติเหตุ จากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงไปฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านในระยะหลังภาวะวิกฤต (Intermediate care) เตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน และติดตามดูแลต่อเนื่องที่บ้านโดย Care Manger, Caregiver ทีมหมอครอบครัว ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดการติดบ้าน ติดเตียง และให้กลับมาช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด

          “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญยิ่งในการดำเนินงานให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลแบบบูรณาการ ทั้งด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัว” ดร.สาธิตกล่าว

          ด้านนายแพทย์ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และไจก้า ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการนี้  โดยในปีแรกสำรวจและศึกษาข้อมูลเพื่อจัดทำร่างรูปแบบแผนแม่บทการให้บริการ  ปีที่ 2 – 4 ดำเนินงานในพื้นที่ ติดตามประเมินผลเป็นระยะ และปีที่ 5 สรุป นำเสนอผลการดำเนินงาน ในภาพรวมระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน จากการบูรณาการทุกภาคส่วน ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ รูปแบบบริการผู้สูงอายุในระยะหลังภาวะวิกฤตที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลในการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อของประเทศ

 *********************** 20 สิงหาคม 2562

************************************

 



   
   


View 2180    20/08/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ