เครือข่ายบุคลากรสุขภาพโลก ชี้ทั่วโลกขาดแคลนบุคลากรสุขภาพกว่า 4 ล้านคน ที่มีอยู่ก็กระจุกตัวอยู่ในประเทศรวยและในเมือง โลกต้องการการลงทุนเพิ่มอีกมาก พร้อมเปิดตัวโครงการศึกษาความต้องการการลงทุนและการจัดการทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้มีบุคลากรสุขภาพมากขึ้น มีการกระจายตัวดีขึ้น และร่วมกันแก้ไขปัญหาสมองไหล
นายฟราสซิส โอมาสวา เลขาธิการเครือข่ายบุคลากรสุขภาพโลก เปิดเผยระหว่างการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม. ว่า ขณะที่ปัญหาสุขภาพมีความรุนแรงมากขึ้นจากโรคใหม่ๆ เช่น โรคซาร์และไข้หวัดนก ปัญหาสุขภาพเดิมก็ยังไม่ลดลงหรือบางอย่างกลับรุนแรงขึ้น เช่น โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย รวมทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ความต้องการบุคลากรสุขภาพก็มีสูงขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกปี 2549 พบว่าทั่วโลกขาดแคลนแพทย์ พยาบาลและผดุงครรภ์รวมกันกว่า 4 ล้านคน และเป็นปัญหาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งมีน้อยก็ยิ่งกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ และมีภาวะสมองไหลจากประเทศจนไปประเทศรวย และจากชนบทสู่เมือง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา มีแพทย์และพยาบาลที่อพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศยากจนกว่าร้อยละ 20 ของบุคลากรทั้งหมด ถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์แนวโน้มอย่างนี้ยังคงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราจะไม่มีวันที่จะบรรลุเป้าหมายสุขภาพที่กำหนดไว้ในเป้าหมายสังคมแห่งสหัสวรรษ หรือที่เรียกว่า Millennium Development Goals (MDGs) ได้ และจะมีเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาสต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นอีกปีละหลายสิบล้านคน องค์การอนามัยโลก จึงร่วมกับประเทศต่างๆ เช่น นอร์เวย์ ฝรั่งเศส ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และมูลนิธิเกตส์ จัดตั้ง เครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาบุคลากรสุขภาพระดับโลกขึ้น
ด้านนาย เดวิด เดอ เฟอแรนติ อดีตรองประธานธนาคารโลก และประธานคณะทำงานด้านการเงินของเครือข่ายฯ กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่ารวยหรือจน มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรสุขภาพทั้งสิ้น และต้องมีการลงทุนเพิ่มอีกมาก แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด เครือข่ายฯ จึงได้ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งมีทั้งธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ มาร่วมกันศึกษาเพื่อให้ทราบภายใน 4-6 เดือนว่า ทั่วโลกควรจะต้องลงทุนเพิ่มเท่าไร จึงจะมีบุคลากรสุขภาพเพียงพอกับความต้องการที่จะให้บรรลุเป้าหมายสุขภาพที่กำหนดไว้ในเป้าหมายสังคมแห่งสหัสวรรษ คณะทำงานนี้จะศึกษาด้วยว่าเงินที่ต้องการจะมาจากไหน และเงินที่มีอยู่จะลงทุนอย่างไร ผลิตบุคลากรประเภทใด จึงจะคุ้มค่ามากที่สุดและแก้ปัญหาสมองไหลได้ด้วย คาดว่าข้อเสนอที่ได้จะนำไปเสนอต่อ สมัชชาสหประชาชาติ สมัชชาอนามัยโลก และประชาคมโลก เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มและลงทุนให้เหมาะสมต่อไป
ด้านนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและแผนของเครือข่ายฯ กล่าวว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ประเทศไทยเรามีรายได้ต่อหัวไม่เกิน 600 เหรียญสหรัฐต่อปี ซ้ำยังมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องการพัฒนาโครงสร้างระบบบริการและบุคลากรสุขภาพเพื่อชนบท เราก็หยุดการลงทุนในเมืองใหญ่ รวมทั้งกทม.อยู่กว่า 5 ปี แล้วหันไปลงทุนสร้างโรงพยาบาลอำเภอและสถานีอนามัย รวมทั้งผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ พยาบาลเทคนิค พนักงานอนามัย ทันตาภิบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ซึ่งสามารถผลิตได้เร็ว ดังนั้นถ้ามีความมุ่งมั่นทางการเมืองแล้ว แม้ไม่มีเงินมากก็ยังแก้ปัญหาได้ ขณะนี้มีหลายประเทศกำลังทำอย่างไทยในอดีต เช่น ปากีสถาน เอธิโอเปีย เป็นต้น ที่สำคัญจะต้องสร้างขวัญกำลังใจ และจิตวิญญาณที่มุ่งบริการประชาชนด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศ เพราะอยู่เมืองไทยก็มีรายได้ดีพอเลี้ยงชีวิตได้ มีระบบการศึกษาต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าสูง เดี๋ยวนี้หมอประจำโรงพยาบาลอำเภอสามารถก้าวหน้าถึงระดับ 9 เทียบเท่ารองอธิบดี และยังสามารถรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายได้ด้วย ถ้าอยู่ในที่ห่างไกลหรือกันดารหรือเสี่ยงภัย จะมีรายได้จากราชการถึงเดือนละเกือบแสนบาท มากกว่าเงินเดือนปลัดกระทรวงเสียอีก ปัญหาสำคัญของเรานอกจากขาดแคลนแล้วก็คือ การกระจุกตัวในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะมีส่วนจากการที่เรามีนโยบายเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งเอเชียและแห่งโลกด้วย ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ขณะนี้เรามีคนต่างชาติมารักษาตัวในเมืองไทยกว่าปีละ 2 ล้านคน บุคลากรสุขภาพก็ต้องถูกดึงไปบริการคนรวยต่างชาติเหล่านี้ และก็ต้องดูดมาจากสถานพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะในชนบท นายแพทย์สุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดโครงการศึกษาความต้องการการลงทุนและการจัดการทางการเงิน ติดต่อได้ที่ นาย Marty Makinen เลขานุการโครงการ โทรศัพท์ +1-202-465-5045 หรือที่ mmakinen@resultsfordevelopment.org ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับ เครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบุคลากรสุขภาพระดับโลก สามารถดูได้ที่ www.who.int/workforcealliance
******************************************* 1 กุมภาพันธ์ 2551
View 13
01/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ