นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ. พร้อมทีมงานซีแอล รับมอบรางวัล SVN Award ประจำปี 2550 จากอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกย่องเชิดชูในฐานะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ในการประกาศใช้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร กับยาโรคเอดส์ หัวใจ ทำให้ยาราคาถูกลง และผู้ป่วยเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้น นับเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจไทยประกาศตัวสนับสนุนซีแอลอย่างชัดเจน นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค. 2551 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเอเชีย(ประเทศไทย) หรือ เอสวีเอ็น (SVN : Social Venture Network Asia (Thailand)) ได้เชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบรางวัล SVN Award ประเภทยกย่องเชิดชูเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำหรับ 5 บุคคลที่มีบทบาทในการใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอล (CL) ได้แก่ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษา รมว.สธ. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมโรค นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเป็นผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างสูงในการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตรยา (Compulsory License) กับยาโรคเอดส์ โรคหัวใจ จำนวน 3 รายการ นับเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทยที่ทำให้ประชาชนไทยจำนวนมหาศาลสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นได้ นพ.มงคล กล่าวต่อไปว่า การที่ท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน มามอบรางวัลในวันนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดต่อตนเองและคณะ เพราะทำให้มั่นใจมากว่าที่ได้ตัดสินใจดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย พรบ.สิทธิบัตรนี้ออกมาในรัฐบาลท่านอดีตนายก อานันท์ ปันยารชุน ท่านจึงทราบดีถึงความจำเป็นในการดำเนินการเรื่องซีแอล และท่านมีเครือข่ายตลอดจนเป็นที่ยอมรับในสหรัฐ ย่อมจะเป็นการอธิบายทางอ้อมให้แก่รัฐบาลและชาวสหรัฐได้อย่างดี ที่สำคัญคือ รางวัลนี้มอบโดยภาคธุรกิจ มิใช่ภาคประชาชน ย่อมเป็นประจักษ์ชัดว่า ภาคธุรกิจที่มักจะมีผู้อ้างว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำซีแอล ก็ยังสนับสนุนการดำเนินการและเป็นหลักฐานชัดเจนว่า ภาคธุรกิจของไทยมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องทีควรค่าแก่การชื่นชมและยกย่อง นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า องค์กรเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเอเชีย (ประเทศไทย) ให้เหตุผลในการมอบรางวัลการประกาศซีแอลว่า เป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นการประกาศเอกราชทางยาและเวชภัณฑ์ที่ท้าทายธุรกิจยาข้ามชาติครั้งสำคัญ และเป็นแบบอย่างให้แก่ชาติต่าง ๆ ในโลก เช่น บราซิล และประเทศอื่นๆ ในการเจรจาต่อรองราคายาที่จำเป็นให้มีราคาลดลง นับว่ามีคุณค่ายิ่งต่อวงการสาธารณสุขไทย และต่อประชาชนไทย ทั้งนี้องค์กรเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอเชีย (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2541 จากการรวมตัวกันของนักธุรกิจที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยจัดให้มีการมอบรางวัล SVN Award และประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรภาคธุรกิจ บุคคล องค์กรภาคสังคม และองค์กรเยาวชน ที่มีผลงานดีเด่นในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมอบรางวัลต่อเนื่องมาทุกปี นับแต่ปี 2542 มกราคม7 /8 **************** 26 มกราคม 2551


   
   


View 19    26/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ