ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ แก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ปรับการทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมขยายเครือข่ายเชื่อมโยงทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชน ช่วยให้งานปฏิรูประบบสุขภาพประสบความสำเร็จ
เช้าวันนี้ (22 มกราคม 2550) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปีชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ พยาบาล...กับระบบสุขภาพท่ามกลางวิกฤตของสังคมไทย เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในชุมชน และนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยมีบุคลากรพยาบาลและสหวิชาชีพ ตลอดจนหน่วยงานสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สภาพปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย นอกจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินงานในมิติของการสร้างสุขภาพ จึงไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งสหวิชาชีพ ภาคีสุขภาพ เครือข่ายสุขภาพที่เกี่ยวข้องและชุมชน รวมทั้งต้องมีการศึกษาวิจัยปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่อย่างจริงจังตามหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชน มีความถูกต้องสอดคล้องกับปัญหาและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ได้ร่วมกับมูลนิธิชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาล เพื่อพัฒนาวิธีคิดอย่างเป็นระบบ และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น และเชื่อมโยงกับทุกองค์กรในสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและพัฒนางานในพื้นที่ รวมทั้งจัดเวทีวิชาการให้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อขยายเครือข่ายการเรียนรู้และการทำงานให้กว้างขวางออกไป เกิดแรงขับเคลื่อนในการดำเนินงานปฏิรูปสุขภาพให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน
ด้านนางจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ ประธานชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาต้นแบบการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 ศูนย์ประสานงานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีพยาบาลและสหวิชาชีพเข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น จึงได้ขยายเครือข่ายประสานงานไปที่จังหวัดอุดรธานี สตูล และมหาสารคาม โดยในปีนี้ มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยทั่วประเทศ นำเสนอผลงานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทั้งหมด 103 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่พบมากในพื้นที่ เช่น ปัญหาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาคัดเลือกพยาบาลที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่น ส่งผลดีต่อชุมชน หน่วยงาน และองค์กรวิชาชีพ เพื่อรับรางวัลพยาบาลชุมชนดีเด่น จำนวน 2 คน ได้แก่ นางสาวมัลลิกา ลุนจักร หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และนางสาวพัชร์พิมภา เขื่อนธนะ โรงพยาบาลเชียงกลาง จังหวัดน่าน
************************** 22 มกราคม 2551
View 12
22/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ