“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 317 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการข้อมูลข่าวสารด้านอาหารปลอดภัย แจ้งเตือน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ปี 2560 – 2561 พบข่าวด้านอาหารปลอดภัยประมาณ 100 เรื่อง เป็นข่าวที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 20 เช่น อาหารปลอม อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารเป็นพิษ
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานบูรณาการข้อมูลข่าวสาร “สู่อาหารปลอดภัย สุขใจถ้วนหน้า” โดยมีนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารอาหารปลอดภัย คณะกรรมการและคณะทำงานข้อมูลข่าวสารอาหารปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมงาน เพื่อสร้างความมั่นใจในกลไกการทำงานแบบบรูณาการของกระทรวงสาธารณสุข ด้านการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชาชน
นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง ทั้งข้อมูลที่เป็นความจริง และข้อมูลอันเป็นเท็จที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด รวมทั้งข้อมูลอาหารที่มีการปนเปื้อน กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารหลายหน่วยงาน อาทิ อย. กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานงาน จากการเฝ้าระวังในปี 2560 – 2561 พบข่าวด้านอาหารปลอดภัยประมาณ 100 เรื่อง เป็นข่าวที่ไม่ถูกต้องประมาณร้อยละ 20 เช่น อาหารปลอม อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารเป็นพิษ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและตื่นตระหนก
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารด้านอาหารปลอดภัย ทำหน้าที่ในการสร้างและพัฒนากลไกการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร สื่อสารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหาร ผ่านเครือข่ายการประสานงานระหว่างองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ โดยบูรณาการข้อมูลข่าวสารจากทุกหน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ประสานการทำงานแก้ไขปัญหา คุ้มครองความปลอดภัยประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า การบูรณาการการทำงานครั้งนี้ จะตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนา “ครัวไทยสู่โลก” เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหาร และการบริการด้านอาหารอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่มีความปลอดภัยและสุขอนามัยสูง มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบการดูแล ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยอาหารที่ผลิตทุกขั้นตอน ตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยจะร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลอาหารปลอดภัยอย่างครบวงจร เชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงาน และใช้เป็นข้อมูลกำหนดนโยบายของประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคให้มีความรู้และพฤติกรรมที่ถูกต้องในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร จากการปนเปื้อนสารเคมี 6 ชนิด อาทิ สารกำจัดศัตรูพืช สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารกันรา บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน และแอฟลาทอกซิน รวมทั้งสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ ตั้งแต่ พ.ศ.2553 -2560 ในผัก ผลไม้ และอาหารหลายชนิดจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
************************************** 25 กุมภาพันธ์ 2562
************************************************