กระทรวงสาธารณสุข เร่งทุกจังหวัดควบคุมป้องกันอหิวาตกโรค ตลอดปี 2550 มีผู้ป่วยทั้งหมด 988 ราย เสียชีวิต 7 ราย ชี้แนวโน้มการแพร่ระบาดโรคในปี 2551 ลดลง ขณะนี้มี 2 จังหวัด ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 10 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานครและยะลา ย้ำเตือนประชาชนให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม อย่าถ่ายเรี่ยราด ซึ่งปริมาณเชื้ออหิวาต์ในอุจจาระของผู้ป่วยโรคนี้ มีมากถึงซี.ซี.ละ 1 พันล้านตัว
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของอหิวาตกโรค ว่า ตลอดปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้ออหิวาตกโรค จำนวน 988 ราย เสียชีวิต 7 ราย อัตราตายร้อยละ 0.7 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งที่มีและไม่มีรายงานผู้ป่วย เร่งควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ให้แยกผู้ป่วยดูแลและค้นหาเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการในชุมชนละแวกเดียวกัน เป็นเวลา 10 วัน ขณะนี้มี 2 จังหวัดที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง ได้แก่ ยะลา พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อ 26 ธันวาคม 2550 และที่กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อ 1 มกราคม 2551 ทั้งนี้ อหิวาตกโรคมีการระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนหลายประเทศก็มีรายงานโรคเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ขอให้ยึดหลักการคือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง ประการสำคัญ ขอให้ประชาชนถ่ายอุจจาระลงส้วม ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปที่อื่นๆ ได้ดีที่สุด เพราะหากผู้ที่ถ่ายอุจจาระติดเชื้ออหิวาตกโรค เชื้อจะปนออกมากับอุจจาระ โดยจากการวิเคราะห์พบว่า ในอุจจาระของผู้ป่วยโรคอหิวาต์จำนวน 1 ซี.ซี. จะมีเชื้ออหิวาต์ 1 พันล้านตัว ในอุจจาระของผู้ที่มีเชื้ออหิวาต์ แต่ยังไม่มีอาการถ่ายเหลวขนาดน้ำหนัก 1 กรัม จะมีเชื้อโรคดังกล่าวประมาณ 1,000 ตัว โดยเชื้ออหิวาต์เพียง 2 ตัว หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพชื้นๆ จะสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 9 ชั่วโมง สามารถเพิ่มจำนวนได้มากถึง 137,000 ล้านตัว
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนทุกวัยมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะเก็บอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ห้ามซื้อยาแก้ท้องเสียที่ทำให้หยุดถ่ายกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้เชื้อโรคคั่งอยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบ อาการรุนแรงมากขึ้น โดยหากได้รับยาแก้อักเสบมากินเองที่บ้าน ขอให้กินยาให้ครบตามที่บุคลากรสาธารณสุขแนะนำ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งอหิวาตกโรคนี้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก หากกินอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
****************************** 8 มกราคม 2550
View 13
08/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ